backup og meta

ไมโคนาโซล (Miconazole)

ไมโคนาโซล (Miconazole)

ข้อบ่งใช้

ยา ไมโคนาโซล ใช้สำหรับ

ยาไมโคนาโซล (Miconazole) ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคสังคัง โรคกลาก และการติดเชื้อราที่ผิวหนังอื่นๆ อย่างการติดเชื้อราแคนดิดา ยานี้ยังใช้เพื่อรักษาสภาวะของผิวหนังที่เรียกว่าโรคเกลื้อน ซึ่งเป็นการติดเชื้อรา ที่ทำให้ผิวมีสีขาวขึ้นหรือคล้ำขึ้นที่บริเวณคอ หน้าอก แขน หรือขา ยาไมโคนาโซลเป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (azole antifungal) ที่ทำงานโดยการป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา

วิธีการใช้ยา ไมโคนาโซล

ยานี้ใช้เฉพาะกับผิวหนังเท่านั้น ทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการจะรักษาให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ทายาลงบริเวณที่มีอาการ โดยปกติคือวันละ 2 ครั้งหรือตามที่แพทย์กำหนด หากคุณใช้ยาแบบพ่น ควรเขย่าขวดยาให้ดีก่อนใช้ ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อที่กำลังรักษา อย่าใช้ยามากกว่าที่กำหนด อาการของคุณจะไม่หายไวขึ้น แต่ผลข้างเคียงอาจเพิ่มขึ้น

  • ทายาแค่พอครอบคลุมบริเวณที่มีอาการ และบริเวณโดยรอบ หลังจากทายาแล้วควรล้างมือให้สะอาด อย่าพันผ้าพันแผลหรือปิดบริเวณนั้น นอกเสียจากแพทย์จะสั่งให้ทำ
  • อย่าทายานี้ที่ดวงตา จมูก ปาก หรืออวัยวะเพศ
  • ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนด แม้อาการจะหายไปหลังจากคุณเริ่มใช้ยา ไมโคนาโซล การหยุดใช้ยาเร็วเกินไป อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตต่อไป และส่งผลให้การติดเชื้อกำเริบได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น

การเก็บรักษายา ไมโคนาโซล

ยาไมโคนาโซลควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไมโคนาโซลบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาไมโคนาโซลลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา ไมโคนาโซล

ก่อนใช้ยาไมโคนาโซล แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือหากคุณต่อยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซลอื่นๆ เช่น

  • โคลไทรมาโซล (clotrimazole)
  • เอโคนาโซล (econazole)
  • คีโตโคนาโซล (ketoconazole)
  • หากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนผสมที่ไม่มีฤทธิ์ในการรักษา ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านน้ำนมแม่ได้หรือไม่ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาไมโคนาโซลจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท N โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา ไมโคนาโซล

อาจเกิดอาการแสบร้อน ปวดเหมือนโดนแมลงกัด บวม ระคายเคือง รอยแดง มีตุ่มคล้ายสิว มีอาการกดเจ็บ หรือผิวลอกเป็นแผ่นขึ้นตรงบริเวณที่ทำการรักษา หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

หากแพทย์สั่งให้คุณใช้ยานี้ โปรดจำไว้ว่าแพทย์ได้คำนวณแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นแต่รุนแรงดังต่อไปนี้ แผลพุพอง น้ำเหลืองเยิ้ม แผลเปิด

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาไมโคนาโซลอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไมโคนาโซลอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไมโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไมโคนาโซลสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาการติดเชื้อราแคนดิดาที่ช่องคลอด

ยาเหน็บช่องคลอด

  • การรักษา 1 วัน เหน็บยาขนาด 1200 มก. เข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 1 วัน
  • การรักษา 3 วัน เหน็บยาขนาด 200 มก. เข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
  • การรักษา 7 วัน เหน็บยาขนาด 100 มก. เข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน

ยาครีมทาช่องคลอด

ภายในช่องคลอด

  • ครีมร้อยละ 2 สอดอุปกรณ์ทายาที่เต็มไปด้วยยาเข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 3 ถึง 7 วัน
  • ครีมร้อยละ 4 สอดอุปกรณ์ทายาที่เต็มไปด้วยยาเข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
  • เฉพาะที่ ทายาภายนอกช่องคลอด วันละสองครั้งเป็นเวลานานสุดสุด 7 วัน เท่าที่จำเป็น

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคกลากตามลำตัว

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง ยาพ่น หรือยาทิงเจอร์ เฉพาะที่ ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคน้ำกัดเท้า

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง ยาพ่น หรือยาทิงเจอร์ เฉพาะที่ ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาการติดเชื้อแคนดิดาที่ผิวหนัง

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง หรือยาพ่นเฉพาะที่ ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคสังคัง

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง หรือยาพ่นเฉพาะที่ ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเกลื้อน

  • ยาครีมเฉพาะที่ ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละครั้ง
  • อาการทางการแพทย์และเชื้อรามักจะหายไปหลังจากรักษาไป 2 สัปดาห์

ข้อควรระวัง

  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นการรักษา และควรหยุดใช้ยาหากมีสัญญาณของอาการระคายเคือง หรือปฏิกิริยาไวเพิ่มขึ้น เช่น มีรอยแดง คัน แสบร้อน แผลพุพอง น้ำเหลืองเยิ้ม
  • ผู้ป่วยควรได้รับการพิจารณาและการวินิจฉัยโรคใหม่อีกครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการรักษา
  • ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาไมโคนาโซลแบบครีมหรือยาเหน็บช่องคลอด หากมีอาการปวดท้อง เป็นไข้ หรือมีสารคัดหลั่งที่มีกลิ่นฉุนจัดจากช่องคลอด

คำแนะนำอื่นๆ

  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มต้นการรักษาที่บริเวณช่องคลอด สภาวะบางอย่างของช่องคลอดอาจะมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อยีสต์ (yeast infection) เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted disease) หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกภายในท่อนำไข่ (tubal pregnancy)
  • ผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องคลอดกำเริบบ่อยครั้ง ควรพิจารณาถึงแนวโน้มที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ (ยาอื่นๆ และ/หรือ การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป)
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่กำลังใช้ยาไมโคนาโซลเหน็บช่องคลอด

ขนาดยาไมโคนาโซลสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาการติดเชื้อราแคนดิดาที่ช่องคลอด

อายุ 12 ปีขึ้นไป

ยาเหน็บช่องคลอด

  • การรักษา 1 วัน เหน็บยาขนาด 1200 มก. เข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 1 วัน
  • การรักษา 3 วัน เหน็บยาขนาด 200 มก. เข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
  • การรักษา 7 วัน เหน็บยาขนาด 100 มก. เข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน

ยาครีมทาช่องคลอด

ภายในช่องคลอด

  • ครีมร้อยละ 2 สอดอุปกรณ์ทายาที่เต็มไปด้วยยาเข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 3 ถึง 7 วัน
  • ครีมร้อยละ 4 สอดอุปกรณ์ทายาที่เต็มไปด้วยยาเข้าในช่องคลอดเวลาก่อนนอน เป็นเวลา 3 วัน
  • เฉพาะที่ ทายาภายนอกช่องคลอด วันละสองครั้งเป็นเวลานานสุดสุด 7 วัน เท่าที่จำเป็น

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคกลาก

อายุ 2 ปีขึ้นไป

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง ยาพ่น หรือยาทิงเจอร์ เฉพาะที่: ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคน้ำกัดเท้า

อายุ 2 ปีขึ้นไป

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง ยาพ่น หรือยาทิงเจอร์ เฉพาะที่: ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาการติดเชื้อแคนดิดาที่ผิวหนัง

อายุ 2 ปีขึ้นไป

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง หรือยาพ่นเฉพาะที่: ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคสังคัง

อายุ 2 ปีขึ้นไป

  • ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาผง หรือยาพ่นเฉพาะที่: ทายาบางๆ ลงบริเวณที่มีอาการวันละสองครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ข้อควรระวัง

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาครีมเฉพาะที่ ยาขี้ผึ้งเฉพาะที่ ยาผงเฉพาะที่ ยาพ่นเฉพาะที่ และยาทิงเจอร์เฉพาะที่สำหรับผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาครีมทาช่องคลอดและยาเหน็บช่องคลอดสำหรับผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาขี้ผึ้งเฉพาะที่
  • ยาพ่นเฉพาะที่
  • ยาครีมเฉพาะที่
  • ยาผงเฉพาะที่
  • ยาครีมทาช่องคลอด พร้อมอุปกรณ์ทายา
  • ชุดยาสำหรับช่องคลอด
  • ยาเหน็บช่องคลอด
  • ยาสอดช่องลอด
  • ยาเจลเฉพาะที่
  • ยาโลชั่นเฉพาะที่
  • ยาน้ำเฉพาะที่
  • ยาผงสำหรับผสม
  • ยาครีมทาช่องคลอด
  • ยาทิงเจอร์เฉพาะที่

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Miconazole Topical Dosage. https://www.drugs.com/dosage/miconazole-topical.html. Accessed March 21, 2018.

Miconazole Nitrate 2 % Topical Cream. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-3841-787/miconazole-nitrate-topical/miconazole-topical/details. Accessed March 21, 2018.

Miconazole Vaginal. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601203.html

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: ชลธิชา จันทร์วิบูลย์


บทความที่เกี่ยวข้อง

เชื้อราในปากจากการให้นมแม่ ส่งผลกระทบอย่าไร

เคล็ดลับการ ป้องกันเชื้อราที่เล็บเท้า อย่างง่ายๆ และได้ผล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา