ระบบประสาท มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหว ความคิด ความรู้สึก การพูด การหายใจ โดยเชื่อมกับการทำงานของสมองและไขสันหลัง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบประสาทเสื่อม และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดระดับความเครียด และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท
[embed-health-tool-heart-rate]
ระบบประสาท คืออะไร
ระบบประสาท เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นประสาทและเซลล์จำนวนมาก ทำงานร่วมกับสมองและไขสันหลัง เพื่อช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ระบบประสาทแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System : CNS)
ระบบประสาทส่วนกลางประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง ทำหน้าที่ในการรับรู้ ประมวลผล และสั่งการ อวัยวะ 2 ส่วนนี้จะทำงานร่วมกัน โดยไขสันหลังเป็นทางผ่านที่ช่วยถ่ายทอดกระแสประสาทหรือข้อมูลจากสมองไปร่างกายและจากร่างกายกลับมายังสมอง
สมอง
แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
- สมองส่วนหน้า
เป็นสมองส่วนที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุด ประกอบด้วยซีรีบรัม (Cerebrum) หรือที่เรียกว่าสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาที่เชื่อมต่อกัน โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าซีรีบรัมแต่ละซีกมีหน้าที่แตกต่างกัน ซีรีบรัมด้านซ้ายควมคุมการคิด การวิเคราะห์ ตรรกะ เป็นต้น ส่วนซีรีบรัมด้านขวาควบคุมความคิดสร้างสรรค์ สัญชาตญาณ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สมองทั้ง 2 ซีกต้องทำงานร่วมกัน ไม่ได้แยกกันทำงานโดยสิ้นเชิง
ซีรีบรัมถูกห่อหุ้มด้วยคอร์เทกซ์ (Cortex) ที่มีบทบาทในการควบคุมการเคลื่อนไหวและความรู้สึก เมื่อได้รับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น มือ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งต่อไปยังคอร์เทกซ์ จากนั้นจึงถูกกระจายไปสู่ระบบประสาทส่วนอื่น ๆ เพื่อประมวลผล เช่น หากแตะเตาที่ร้อนจัด สมองจะรวบรวมข้อมูลและสั่งการให้นำมือออก และจดจำว่าไม่ควรนำมือไปแตะเตาร้อน ๆ อีก
ในสมองส่วนหน้าประกอบด้วยทาลามัส (Thalamus) ซึ่งคอยส่งข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไปยังคอร์เทกซ์ มีหน้าที่ควบคุมสติ และความตื่นตัว และไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่ควบคุมระบบการทำงานที่เกิดขึ้นอัตโนมัติในร่างกาย เช่น ความหิว ความกระหายน้ำ การเต้นของชีพจร การนอนหลับ ทั้งยังช่วยควบคุมการทำงานของต่อมใต้สมองซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ การเจริญเติบโต ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย ความเครียด เป็นต้น อีกทั้งไฮโปทาลามัสยังควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมหมวกไต ไทรอยด์ รังไข่ ลูกอัณฑะ ช่วยให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานได้อย่างเป็นปกติ ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่าง ๆ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ น้ำหนักขึ้นเร็ว อวัยวะไม่พัฒนาตามช่วงวัย หรือมีขนาดเล็กกว่าปกติ โดยเฉพาะอวัยวะเพศของผู้ชาย
- สมองส่วนกลาง
สมองส่วนกลางอยู่ใต้สมองส่วนหน้า คอยทำหน้าที่ประสานงานในการรับสารต่าง ๆ ที่เข้าและออกจากสมองส่งต่อไปยังไขสันหลัง เพื่อดำเนินการให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สมองส่วนหลัง หรือสมองส่วนท้าย
สมองส่วนหลังอยู่บริเวณหลังซีรีบรัม ทำหน้าที่รักษาความสมดุลของการเคลื่อนไหวและการประสานงานของร่างกาย
- ไขสันหลัง
ไขสันหลังเชื่อมต่อกับก้านสมองด้านล่างลงไปถึงบริเวณกระดูกเชิงกราน มีความยาวกว่า 18 นิ้ว และมีเส้นประสาทอยู่ภายในกระดูกเป็นจำนวนมากซึ่งทำหน้าที่เป็นทางผ่านให้กับข้อมูลหรือคำสั่งที่ส่งลงมาจากสมองไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
2. ระบบประสาทรอบนอก (Peripheral Nervous System : PNS)
ระบบประสาทที่ยื่นออกไปจากระบบประสาทส่วนกลาง ประกอบด้วยเส้นประสาทและปมประสาท ทำหน้าที่รับและส่งความรู้สึกไปยังระบบประสาทส่วนกลาง เช่น การรับรู้ความเจ็บปวดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือมีแผล และเกี่ยวข้องกับระบบสั่งการ เช่น การควบคุมกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวร่างกาย
การทำงานของระบบประสาท
ข้อมูลที่ได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะถูกส่งไปยังสมองและไขสันหลัง และส่งกลับไปสู่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านเซลล์ประสาท (Neurons) ที่มีเป็นพันล้านเซลล์ ระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์จะมีช่องว่างที่เรียกว่า ซิแนปส์ (Synapse) และปลายประสาทของแต่ละเซลล์จะหลั่งสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ออกมาเพื่อเป็นตัวนำข้อมูลจากเซลล์ประสาทหนึ่งผ่านผ่านซิแนปส์ ไปยังเซลล์ประสาทอีกเซลล์
กระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว การเรียนรู้ การหายใจ ประสาทสัมผัส อารมณ์ ความรู้สึก เป็นต้น
อาการผิดปกติของระบบประสาท
อาการที่อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท มีดังนี้
- ปวดศีรษะต่อเนื่องและกะทันหัน
- สูญเสียความรู้สึก รู้สึกร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งชา
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ความจำเสื่อม หลงลืมบ่อย
- สูญเสียการมองเห็นเป็นบางครั้ง
- ชัก ตัวสั่น
- ปวดหลังและอาจลามไปยังบริเวณนิ้วเท้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าที่ส่งผลให้พูดไม่ชัด
โรคระบบประสาท
โรคระบบประสาทที่ส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ และพบได้บ่อย มีดังนี้
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต เชื้อราที่อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ จนทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของสมอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบ ไข้ขึ้นสูงกะทันหัน ปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งควรเข้ารับการรักษาทันทีที่มีอาการ เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้ระบบประสาทเสียหายนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- โรคไข้สมองอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อหรือการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ทำให้สมองบวม นำไปสู่อาการปวดศีรษะ มีไข้ อัมพาตบางส่วน แขนขาอ่อนแรง ชัก และหมดสติ
- โรคโปลิโอ คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านการสัมผัสหรือสูดดมสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศจากการไอ จาม โดยไวรัสจะเดินทางไปยังลำคอ ลำไส้ และอาจเพิ่มจำนวนขึ้น อีกทั้งยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปทำลายระบบประสาทได้
- โรคหลอดเลือดสมอง อาจเกิดจากไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี จึงลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์สมองได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เนื้อเยื่อและเซลล์เริ่มตาย จนนำไปสู่การสูญเสียความทรงจำ มีปัญหาในการเคลื่อนไหว การพูดและการรับประทานอาหาร ร่างกายชา ไม่รับรู้ความรู้สึก
- โรคปลอกประสาทเสื่อม อาจมีสาเหตุไม่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเนื้อเยื่อตนเองและทำให้สารเคลือบที่ปกป้องเส้นใยประสาทในสมองและไขสันหลังถูกทำลาย จนส่งผลให้เส้นประสาทเสียหาย นำไปสู่อาการกล้ามเนื้อกระตุก อัมพาต มีปัญหาด้านการจดจำ อารมณ์แปรปรวน
- โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคระบบประสาทที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกิดจากโปรตีนในสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้สมองทำงานช้าหรือเสื่อมลง เซลล์ประสาทได้รับความเสียหาย นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าอัลไซเมอร์อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม เช่น อายุที่มากขึ้น การบาดเจ็บที่ศีรษะ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
วิธีรักษาระบบประสาทให้แข็งแรง
การรักษาระบบประสาทให้แข็งแรง อาจทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง และช่วยลดระดับความเครียดที่ส่งผลต่อจิตใจ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/คืน อาจช่วยเพิ่มความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเน้นรับประทานผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล
- ฝึกทักษะให้สมอง ควรกระตุ้นการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยกิจกรรมหรือเกมที่ใช้ความคิด เช่น ปริศนาอักษรไขว้ ซูโดกุ การต่อจิ๊กซอว์ การอ่านหนังสือ
- ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและเพื่อน ผู้ที่เครียดบ่อยหรือเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าอาจมีแนวโน้มเกิดภาวะความจำเสื่อมและสมองฝ่อได้มากกว่า การพบปะครอบครัวและเพื่อนอาจเป็นอีกหนทางที่ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความเศร้า และความวิตกกังวล ที่อาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง