วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงในจากในอดีต ส่งผลให้โรคหลอดเลือดสมองกลายเป็นโรคที่ส่งผลกระทบกับประชากรยุคใหม่ ไม่ว่าเพศชายหรือหญิงก็เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งสิ้น แต่หากคุณเป็นผู้หญิง ปัจจัยสุขภาพทางเพศอาจเพิ่มความเสี่ยงให้คุณได้ เช่น ฮอร์โมนต่างๆ การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางใน การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง โดยเฉพาะ ที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถป้องกันโรคร้ายนี้ได้ และวิธีการในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
แนวทางใหม่ใน การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง
แนวทางในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง ที่ได้รับการรับรองทางวิทยาศาสตร์ มีดังต่อไปนี้
ระวังไม่ให้ความดันโลหิตสูง
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง อย่างแรกคือ ต้องระวังไม่ให้ความดันโลหิตสูง เพราะภาวะความดันโลหิตสูงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
หากคุณมีภาวะความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ ควรพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุด คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อฟื้นฟูสุขภาพของคุณอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างก็ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่บริโภคโซเดียมเกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม (ประมาณครึ่งช้อนชา) รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น งดอาหารฟาสต์ฟู้ด และอาหารไขมันสูง
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ คุณจึงควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี สามารถตรวจสอบเกณฑ์น้ำหนักที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ด้วยการตรวจวัดดัชนีมวลกาย
โดยปกติแล้ว ดัชนีมวลกายที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 25 หากคุณน้ำหนักเกินอาจลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเร็ว การวิ่ง เดินขึ้นลงบันได ร่วมกับการควบคุมปริมาณแคลอรีจากอาหารให้อยู่ที่ 1,500-2,500 กิโลแคลอรีต่อวัน
แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากกิจวัตรประจำวันและดัชนีมวลกายของคุณด้วย หากคุณลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 1 ปอนด์ (ประมาณ 4.5 กิโลกรัม) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลงได้
ป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะนี้ถึง 4.4 เท่า โดยอัตราตายหรือพิการ-ของผู้หญิงที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรอยู่ที่ร้อยละ 2-40
นอกจากนี้ผลการศึกษาวิจัยที่ชี้ว่า ผู้หญิงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่า
ตรวจความดันก่อนการใช้ยาคุมกำเนิด
ผู้หญิงควรตรวจความดันโลหิตก่อนใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับการใช้ยาคุมกำเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สาวๆ ที่เป็นนักดื่ม ควรงดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 1 แก้ว (ปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 14%) อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ และหากคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 แก้วต่อวัน ความเสี่ยงก็จะพุ่งสูงขึ้นมาก
เลิกบุหรี่
การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน เพราะทำให้เลือดข้นขึ้นและเพิ่มปริมาณคราบหินปูนในหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเลิกสูบบุหรี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลืองสมองได้ชัดเจนที่สุด
หากพยายามเลิกบุหรี่ครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จ อย่าเพิ่งท้อแท้ เพราะอดีตสิงห์นักสูบส่วนใหญ่ล้วนเคยผ่านประสบการณ์ในการเลิกบุหรี่มาแล้วหลายครั้ง แต่หากคุณตั้งใจจริง ต้องเลิกบุหรี่ได้แน่นอน เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ตรวจภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว
ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) คือ ภาวะที่หัวใจเต้นผิดปกติ พบได้บ่อยในผู้อายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 75 ปี ภาวะนี้สามารถก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ที่อาจหลุดเข้าไปในสมอง จนกลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้
ฉะนั้นหากคุณมีภาวะนี้ ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือหากมีอาการ เช่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่มหรือหายใจสั้น ควรไปพบคุณหมอทันที
อย่าให้น้ำตาลในเลือดสูง
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะค่อยๆ ทำลายหลอดเลือด และส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดสะสมตัวภายในหลอดเลือดมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษาเป็นประจำ ร่วมกับการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และใช้ยาควบคุมน้ำตาลในเลือดตามที่คุณหมอสั่ง
ระวังสาเหตุอื่นๆ
มีสาเหตุอื่นอีกหลายประการที่สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง เช่น ภาวะหมดประจำเดือน (menopause) ภาวะหลังหมดประจำเดือน (post menopause) กลุ่อาการอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) และวิถีชีวิต
นอกจากนี้ อาการซึมเศร้าและความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิง สามารถทำได้เองง่ายๆ ด้วยการปฏิบัติตนตามแนวทางข้างต้น ควบคู่กับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็คความผิดปกติในร่างกาย และเข้าปรึกษาแพทย์อย่างทันท่วงที
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]