backup og meta

เส้นเลือดในสมองแตก สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/01/2023

    เส้นเลือดในสมองแตก สาเหตุ อาการ และการรักษา

    เส้นเลือดในสมองแตก เป็นโรคเส้นเลือดสมองชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับเส้นเลือดในสมองตีบ (Ischemic Stroke) แต่พบค่อนข้างน้อยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เมื่อมีอาการ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปวดหัวรุนแรง ควรไปพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิตได้

    คำจำกัดความ

    เส้นเลือดในสมองแตกคืออะไร

    เส้นเลือดในสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) เป็นโรคเส้นเลือดสมอง (Stroke) ชนิดหนึ่ง หมายถึง การที่เส้นเลือดในสมองแตกและมีเลือดไหลออกมา ส่งผลให้สมองบางส่วนขาดออกซิเจน หรือเสียหายเนื่องจากปริมาณเลือดในสมองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

    ทั้งนี้ เส้นเลือดในสมองแตกอาจเแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

    • เลือดออกในสมอง (Intracerebral Hemorrhage) หมายถึง เส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองรอบ ๆ เส้นเลือดที่แตกมีความดันสูงขึ้น
    • เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid Hemorrhage) หมายถึง การแตกของเส้นเลือดที่ลำเลียงเลือดผ่านเยื่อหุ้มสมองอะแร็กนอยด์แตก (Arachnoid) ทำให้มีเลือดไหลเข้าไปสะสมในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มสมองและแรงดันภายในกะโหลกเพิ่มสูงขึ้น

    ทั้งนี้ เส้นเลือดในสมองแตกพบได้ไม่บ่อย หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของโรคเส้นเลือดสมองทั้งหมด

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกส่วนใหญ่ มักมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

    อาการ

    อาการของเส้นเลือดในสมองแตก

    เมื่อเป็นเส้นเลือดในสมองแตก ผู้ป่วยจะมีอาการเฉียบพลัน ดังนี้

    • รู้สึกชาหรืออ่อนแรง บริเวณใบหน้า ขา หรือแขน ของร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
    • มีปัญหาในการพูดและไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด
    • เดินหรือทรงตัวลำบาก
    • ปวดหัวอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • วิงเวียน เป็นลม
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • มองภาพตรงหน้าไม่ชัดหรือมองไม่เห็นเลย โดยอาการอาจเกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

    สาเหตุ

    สาเหตุของ เส้นเลือดในสมองแตก

    เส้นเลือดในสมองแตกมักเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่ความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานอาจเสี่ยงสูงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตก

    นอกจากนี้ เส้นเลือดในสมองแตกอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • เส้นเลือดสมองโป่งพอง
    • เนื้องอกในสมอง
    • ความผิดปกติของเส้นเลือด
    • การรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
    • ศีรษะได้รับบาดเจ็บ
    • ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การสูบบุหรี่ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    เมื่อมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก ต้องรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะอาการมักแย่ลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เสียชีวิตได้

    ทั้งนี้ อาการของเส้นเลือดในสมองแตก สังเกตได้จากลักษณะท่าทางและพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้

    • ยิ้ม เมื่อยิ้ม มุมปากข้างหนึ่งจะต่ำลงกว่าอีกข้าง
    • ยกแขนทั้ง 2 ข้าง ยกแขนได้ไม่เท่ากัน โดยจะยกแขนข้างหนึ่งได้สูงไม่เท่าอีกข้าง หรือในบางกรณีอาจยกแขนข้างหนึ่งไม่ขึ้นเลย เพราะปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงของร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
    • พูดข้อความเดิมซ้ำ ๆ เมื่อขอให้พูดข้อความเดิม จะไม่สามารถพูดได้เหมือนเดิม นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในการเลือกใช้คำขณะสนทนาด้วย อาจต้องคิดนาน หรือนึกคำที่ต้องการพูดไม่ออก

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัย เส้นเลือดในสมองแตก

    ปกติแล้ว คุณหมอจะวินิจฉัยว่าเป็นเส้นเลือดในสมองแตกหรือไม่ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • การตรวจทางประสาท เช่น สังเกตการตอบสนองของดวงตาต่อแสงสว่าง
    • ซีที สแกน (Computerized Tomography หรือ CT Scan) เพื่อตรวจหาบริเวณที่เส้นเลือดอุดตันหรือตีบ โดยก่อนตรวจด้วยวิธีนี้ คุณหมออาจฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดเพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ระหว่างการตรวจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
    • เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) เป็นการตรวจหาความผิดปกติในสมองด้วยการใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ
    • ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electrocardiogram) เป็นการตรวจสุขภาพหัวใจว่าเป็นสาเหตุของอาการที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่หรือไม่

    การรักษา เส้นเลือดในสมองแตก

    โดยทั่วไป คุณหมอจะรักษาเส้นเลือดในสมองแตก ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ลดความดันโลหิต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรค ด้วยการให้รับประทานยาลดความดันโลหิต รวมถึงให้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาหารโซเดียมสูง และอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว ซึ่งมักทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหลังรับประทาน
  • ผ่าตัดนำเลือดออก เพื่อลดแรงดันในสมอง
  • ผ่าตัดหยุดเลือด หรือผ่าตัดศีรษะ เพื่อนำคลิปขนาดเล็กไปหนีบไว้ที่เส้นเลือดที่กำลังโป่งพอง เพื่อป้องกันเลือดไหลไปยังเส้นเลือด เพราะอาจทำให้เส้นเลือดแตกได้ในภายหลัง โดยทั่วไป วิธีนี้จะใช้กับเส้นเลือดที่มีแนวโน้มจะแตก หรือเคยแตกแล้วและอาจมีเลือดออกซ้ำได้
  • ใส่ขดลวด (Endovascular Embolization) เป็นการสวนท่อขนาดเล็กเข้าไปยังเส้นเลือดที่โป่งพอง เพื่อขัดขวางเลือดไม่ให้ไหลไปยังเส้นเลือดดังกล่าวเพราะอาจเป็นอันตรายได้ และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในเวลาเดียวกัน
  • บำบัดทางร่างกาย การพูด หรือความคิด เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกส่งผลให้สมองเสียหาย จนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัด เพื่อจะได้กลับมาสื่อสารได้ตามปกติ มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และสามารถคิด จดจำ หรือเพ่งสมาธิได้
  • การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหลักของเส้นเลือดในสมองแตก จึงอาจป้องกันได้ด้วยการลดความดันโลหิตตามวิธีการต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหลังรับประทาน เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว อย่างของทอดต่าง ๆ เค้ก ชีส เบคอน หรือเนื้อติดมัน
    • ควบคุมน้ำหนัก เพราะโรคอ้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และหากความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว โรคอ้วนจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าเดิม
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
    • งดสูบบุหรี่ และเลิกใช้ยาเสพติด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา