backup og meta

เส้นเลือดในสมองตีบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

    เส้นเลือดในสมองตีบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

    เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด โดยเกิดการตีบหรืออุดตันของเส้นเลือดที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง ซึ่งส่งผลให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และค่อย ๆ ตายลง หรือส่งผลให้ร่างกายผิดปกติ เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชาตามใบหน้าหรือร่างกาย หากมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบควรไปพบคุณหมอทันที เพราะหากไปพบคุณหมอช้า อาการจะยิ่งแย่ลง หรืออาจถึงขั้นพิการถาวรหรือเสียชีวิตได้

    คำจำกัดความ

    เส้นเลือดในสมองตีบคืออะไร

    เส้นเลือดในสมองตีบ (Ischemic Stroke) หมายถึง การมีเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เพราะเส้นเลือดตีบหรืออุดตันจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือด หรือเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กขัดขวางการไหลเวียนเลือด ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองได้รับออกซิเจนจากเลือดไม่เพียงพอ และเซลล์สมองค่อย ๆ ตายลง จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย และอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

    ทั้งนี้ เส้นเลือดในสมองตีบโดยพบได้บ่อยกว่าเส้นเลือดในสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดสมองแตกหักหรือฉีกขาดส่งผลให้เลือดรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง

    อาการ

    อาการของ เส้นเลือดในสมองตีบ

    เมื่อเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จะเกิดอาการเฉียบพลัน ดังนี้

    • รู้สึกชาหรืออ่อนแรง บริเวณใบหน้า ขา หรือแขน มักเกิดกับร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
    • มีปัญหาในการพูดและไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด
    • เดินหรือทรงตัวลำบาก
    • ปวดหัวอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจมีอาการมึนงงหรืออาเจียนร่วมด้วย
    • มองภาพตรงหน้าไม่ชัดหรือมองไม่เห็นเลย โดยอาการอาจเกิดขึ้นกับดวงตาเพียงข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

    สาเหตุ

    สาเหตุของ เส้นเลือดในสมองตีบ

    เส้นเลือดในสมองตีบเกิดจากเส้นเลือดตีบแคบลงหรือเกิดการอุดตันจากไขมัน เกล็ดเลือด หรือสสารอื่น ๆ ที่พบได้ในเลือด เช่น เนื้อเยื่อ จนทำให้ไม่เส้นเลือดไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองได้ตามปกติ

    โดยทั่วไป เส้นเลือดในสมองตีบจะพบในผู้ที่สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย หรือดื่มหนัก รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคเบาหวาน
    • โรคอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์
    • ภาวะหลอดเลือดแข็ง
    • ภาวะความดันเลือดสูง
    • ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
    • ความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
    • คอเลสเตอรอลในเลือดสูง

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    เมื่อเป็นเส้นเลือดในสมองตีบต้องไปพบคุณหมอด่วนที่สุด หากปล่อยไว้ อาการจะแย่ลงและส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้

    วิธีสังเกตหรือสัญญาณเตือนโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ได้แก่

    • ยิ้ม ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบจะมีมุมปากข้างหนึ่งที่ต่ำลงกว่าอีกข้าง
    • ยกแขนทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบจะยกแขนข้างหนึ่งได้สูงไม่เท่าอีกข้าง หรือในบางกรณีอาจยกแขนข้างหนึ่งไม่ขึ้นเลย
    • พูดข้อความเดิมซ้ำ ๆ ผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบจะพูดข้อความเดิมในลักษณะที่ไม่เหมือนเดิมหากถูกขอให้พูดซ้ำ

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยเส้นเลือดในสมองตีบ

    เมื่อไปโรงพยาบาล คุณหมอจะวินิจฉัยเส้นเลือดในสมองตีบด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ตรวจการตอบสนองของระบบประสาท ด้วยการส่องไฟที่ดวงตาหรือใช้ค้อนเคาะเบา ๆ ที่หัวเข่า เพื่อดูว่าเส้นเลือดในสมองตีบส่งผลต่อการทำงานของร่างกายอย่างไร
    • ตรวจเลือด เพื่อดูความเร็วที่เลือดแข็งตัว ระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจว่ามีการติดเชื้อในร่างกายหรือไม่
    • ซีที สแกน (Computerized Tomography หรือ CT Scan) เพื่อตรวจหาบริเวณที่เส้นเลือดอุดตันหรือตีบ โดยก่อนตรวจด้วยวิธีนี้ คุณหมออาจฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดเพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ระหว่างการตรวจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
    • เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) เป็นการตรวจหาความผิดปกติในสมองด้วยการใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ ก่อนตรวจด้วยวิธีนี้ คุณหมออาจฉีดสีเข้าไปในร่างกายเช่นเดียวกับการตรวจแบบซีที สแกน
    • ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electrocardiogram) เป็นการตรวจสุขภาพหัวใจ เพื่อดูว่าเกล็ดเลือดที่อุดตันในเส้นเลือดมีต้นกำเนิดมาจากหัวใจหรือไม่

    การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบ

    เส้นเลือดในสมองตีบสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ฉีดยาละลายลิ่มเลือดทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ (Tissue Plasminogen Activator) เข้าร่างกายทางแขนโดยจะฉีดหลังจากผู้ป่วยมีอาการของเส้นเลือดในสมองตีบไปแล้ว 3-4.30 ชั่วโมง
    • ให้ยาละลายลิ่มเลือดบริเวณที่พบการตีบหรืออุดตันของเส้นเลือดโดยตรง ผ่านสายสวนที่สอดเข้าไปทางขาหนีบซึ่งคุณหมอจะค่อย ๆ ใส่เข้าไปจนถึงสมอง
    • ใช้ขดลวดตาข่ายจับลิ่มเลือดที่อุดตันในสมองออกมา ผ่านสายสวนที่สอดเข้าไปเส้นเลือด โดยคุณหมอจะเลือกรักษาด้วยวิธีนี้ หากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดไม่ได้ผล
    • ให้ออกซิเจน เพื่อชดเชยออกซิเจนที่สมองได้รับไม่เพียงพอ
    • ผ่าตัดเส้นเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery) เพื่อนำสิ่งกีดขวางหรืออุดตันเส้นเลือดและเป็นสาเหตุของเส้นเลือดในสมองตีบออกมา ทั้งนี้ เส้นเลือดแดงคาโรติดเป็นเส้นเลือดใหญ่บริเวณคอ มีหน้าที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง เมื่อเส้นเลือดตีบหรืออุดตันจึงส่งผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกัน เส้นเลือดในสมองตีบ ได้

    • ลดการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัว
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชเต็มเมล็ด
    • เลิกสูบบุหรี่
    • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป โดยเฉพาะหากกำลังเป็นโรคเบาหวานอยู่ เพราะหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลให้เส้นเลือดเสียหาย และเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดในสมองตีบมากขึ้น
    • ควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะเมื่อความดันเลือดสูง เส้นเลือดจะอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการอุดตันมากขึ้น
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม หรือค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 24.9
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาที จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์
    • รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดและยาต้านการแข็งตัวของเลือดตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา