backup og meta

Ischemic Stroke (ภาวะหลอดเลือดตีบตัน) คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    Ischemic Stroke (ภาวะหลอดเลือดตีบตัน) คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

    Ischemic Stroke คือ ภาวะหลอดเลือดตีบตัน เป็นหนึ่งในโรคหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในสมอง โดยอาจสังเกตได้จากอาการปวดหัวรุนแรง สูญเสียการทรงตัวและสื่อสารลำบาก หากปล่อยไว้เวลานานอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

    Ischemic Stroke คืออะไร

    Ischemic Stroke คือ โรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ซึ่งอาจพบได้มากกว่า 80% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด โดยอาจเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในสมอง ทำให้สมองขาดเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้เซลล์ในสมองได้รับความเสียหายและการทำงานของสมองบกพร่อง หากไม่เข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วอาจส่งผลให้เซลล์ในสมองตาย เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

    สาเหตุของ Ischemic Stroke คืออะไร

    สาเหตุของ Ischemic Stroke คือ การสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดแดง ที่ทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด หรือทำให้หลอดเลือดแคบลง ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้น้อยลง ทำให้สมองได้รับเลือดไม่เพียงพอ จนเซลล์ในสมองตาย

    อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจวาย หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โรคลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดและโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาจทำให้มีไขมันสะสมในหลอดเลือดมาก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อหลอดเลือดอุดตัน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเสพสารเสพติดเป็นเวลานาน
  • อาการ Ischemic Stroke คืออะไร

    อาการ Ischemic Stroke อาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยสามารถสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

    • แขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
    • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
    • มีอาการชาครึ่งซีก หรือชาบริเวณใบหน้า แขน และขา
    • มีปัญหาการมองเห็น เช่น ตาบอดข้างเดียว มองเห็นเป็นภาพซ้อน
    • พูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดติดขัด
    • สูญเสียการทรงตัว เช่น เดินเซ รู้สึกเหมือนตัวลอยเมื่อนั่งหรือนอน

    ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาทันที หากมีอาการชาครึ่งซีก เคลื่อนไหวหรือยกแขนขาลำบาก และพูดไม่ชัด

    การรักษา Ischemic Stroke

    การรักษา Ischemic Stroke อาจมีวิธีดังต่อไปนี้

    • ยาสลายลิ่มเลือด (TPA) โดยคุณหมออาจฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการแรกเริ่ม เพื่อช่วยสลายลิ่มเลือดในหลอดเลือด ช่วยลดการอุดตันของหลอดเลือด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือด
    • ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด โดยควรให้ยานี้ภายใน 4 ชั่วโมง นับจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
    • การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดรุนแรง โดยคุณหมออาจทำการผ่าตัดเพื่อนำไขมันและคราบจุลินทรีย์ที่อุดตันในหลอดเลือดออกอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
    • การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Angioplasty) คือการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบร่วมกับการใส่บอลลูน (Carotid angioplasty) ไปยังหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน เพื่อช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน Ischemic Stroke

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน Ischemic Stroke คือการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และไขมันดี เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก แซลมอน ส้ม คะน้า ฟักทอง มะเขือเทศ แตงกวา กะหล่ำ บร็อคโคลี่
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพราะอาจทำให้ไขมันอุดตันในหลอดเลือด
    • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน
    • ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม ดูหนัง เพราะความเครียดอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
    • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำลายหลอดเลือด และอาจส่งผลให้หลอดเลือดตีบ นำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมอง
    • ดูแลตัวเองตามแผนการรักษาของคุณหมอ เช่น รับประทานยาลดคอเลสเตอรอล ยาลดความดันโลหิต ยาลดน้ำตาลในเลือด และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามนัดหมาย และควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา