backup og meta

นวดแผนไทย ดีจริงไหม? ทำไมใคร ๆ ถึงติดใจกันนัก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/05/2021

    นวดแผนไทย ดีจริงไหม? ทำไมใคร ๆ ถึงติดใจกันนัก

    นอกจากการบำบัดโรคด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การผ่าตัด การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด จิตบำบัด ก็ยังมีวิธีการรักษาโรคอีกแขนงหนึ่งที่เรียกว่า การแพทย์ทางเลือก หรือแพทย์แผนโบราณ ที่แตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ เช่น การฝังเข็ม ยาจีน กัวซา ซึ่งเป็นตำรับแพทย์แผนจีนโบราณที่แพร่หลายยังมาประเทศไทยด้วย หรืออย่างการนวดแผนไทยของเรา ที่โด่งดังไปไกลทั่วโลก และติดอันดับ 1 ในกิจกรรมห้ามพลาด เมื่อมาเยือนเมืองไทย Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับการนวดแผนไทยให้ถ่องแท้ จะได้รู้ว่า นวดแผนไทย แล้ว… ดีจริงไหม จะมีข้อเสียอะไรบ้างหรือเปล่า

    ทำความรู้จักกับการ นวดแผนไทย

    การนวดแผนไทย หรือ การนวดแผนโบราณ (Traditional Thai Massage) เป็นศาสตร์การบำบัดโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย ที่มีหลักฐานว่าเผยแพร่จากอินเดียเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนา การนวดแผนไทยจะเน้นการกด คลึง ดัด บีบ ดึง ประคบ และการอบ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

    การนวดแผนไทย สามารถแบ่งตามวิธีการนวดได้ 2 แบบ คือ

    1. การนวดแบบราชสำนัก ซึ่งจะเน้นท่วงท่าที่สุภาพ นวดโดยใช้มือ และนิ้วมือเท่านั้น
    2. การนวดแบบเชลยศักดิ์ ซึ่งเป็นการนวดในระดับชาวบ้าน สามารถใช้อวัยวะอื่น เช่น ศอก เท้า เข่า รวมถึงใช้ท่าทางทั่วไปได้

    หากแบ่งการนวดไทยตามวัตถุประสงค์ จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การนวดบำบัดโรค ที่เน้นเพื่อรักษาหรือบำบัดโรค เช่น นวดแก้คอเคล็ด และการนวดผ่อนคลาย เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และช่วยส่งเสริมสุขภาพ

    ประโยชน์ของ การนวดแผนไทย

    ช่วยคลายเครียด

    เวลารู้สึกเครียด ๆ ไม่ว่าจะจากการเรียน การทำงาน หรือมีปัญหาในความสัมพันธ์ เราก็ต้องหาวิธีคลายเครียด ซึ่งการนวดแผนไทย ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีคลายเครียดสุดโปรดของใครหลายคน เทคนิคการกด บีบ คลึง ดึง ยืด ของการนวดแผนไทยจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายทั่วร่างกาย และช่วยให้เรารู้สึกดี กระปรี้กระเปร่าขึ้น

    ผลจากศึกษาชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อปี 2015 ชี้ว่า จากผลการประเมินความเครียดของกลุ่มตัวอย่าง ด้วยการตรวจวัดปริมาณอัลฟาอะไมเลสในน้ำลาย (sAA) ทั้งก่อนและหลังเข้ารับการนวดแผนไทย พบว่า การนวดแผนไทยทำให้ตัวบ่งชี้ถึงระดับความเครียดลดลงอย่างเห็นได้ชัด และนักวิจัยยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การนวดแผนไทยสามารถบรรเทาความเครียดในผู้ที่มีสุขภาพดีได้มากกว่าการพักผ่อนเฉย ๆ

    นวดแผนไทย ช่วยเพิ่มพลังงาน

    ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การนวดแผนไทยช่วยเพิ่มพลังกายให้เราได้ จากการทดลองแบบสุ่มที่ให้กลุ่มตัวอย่างที่ประสบอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เข้ารับการนวดแบบสวีดิชและการนวดแผนไทย ผลออกมาว่า การนวดแผนไทยช่วยเพิ่มพลังงานและช่วยกระตุ้นสมอง ส่วนการนวดแบบสวีดิชช่วยให้ผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้น

    ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียน

    เทคนิคการยืดเส้นประกอบกับท่านวดที่คล้ายคลึงกับการทำโยคะเวลานวดแผนโบราณ จะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและระบบน้ำเหลืองทั่วร่างกายของเราให้ดีขึ้น จึงทำให้เนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายได้รับสารอาหารและออกซิเจนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้เซลล์เจริญเติบโตเป็นปกติ และช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ

    อีกทั้ง งานศึกษาชิ้นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่ปลายประสาทอักเสบ หรือปลายประสาทเสื่อม (Peripheral Neuropathy) จากโรคเบาหวาน พบว่า การนวดเท้าเพื่อสุขภาพในรูปแบบการนวดแผนไทย สามารถช่วยพัฒนาบาลานซ์ (Balance) หรือความสามารถในการทรงตัวของร่างกายให้ดีขึ้นได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะ การนวดเท้าช่วยกระตุ้นระบบกายสัมผัสทั่วไป (Somatosensory System) ซึ่งสำคัญต่อความสมดุลหรือบาลานซ์ของร่างกาย

    ช่วยให้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น

    เทคนิคการนวดและท่านวดที่คล้ายท่าโยคะของการนวดแผนไทย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเครียดและพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง แต่ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย และช่วยให้น้ำในเยื่อหุ้มข้อ หรือน้ำไขข้อ (Synovial Fluid) ไหลเวียนได้สะดวกขึ้น แรงเสียดทานบริเวณข้อต่อจึงลดลง ส่งผลให้พิสัยการเคลื่อนไหว  (Range of Motion) หรือความสามารถในการเคลื่อนไหวตามแนวของข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่าทำให้ข้อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้เต็มพิกัด เราจึงเคลื่อนไหวได้สะดวก ก้มได้สุด เงยได้สุด แกว่งแขนก็ได้เต็มที่ ไม่รู้สึกสะดุดหรือปวด

    นวดแผนไทยทีไร ทำไมถึงเจ็บกล้ามเนื้อ

    แม้ การนวดแผนไทย จะเป็นที่ถูกอกถูกใจใครหลาย ๆ คน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ลองนวดแผนไทยครั้งแรกแล้วเข็ดขยาด ไม่กล้านวดอีกรอบ เพราะเจ็บจนแทบร้องขอชีวิต เลยต้องหันไปนวดผ่อนคลายรูปแบบอื่นแทน เช่น นวดน้ำมันหอมระเหย

    ที่เรารู้สึกเจ็บเวลานวดแผนไทย นั่นเป็นเพราะการนวดแผนไทยมีการกด บีบ คลึง เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่จับตัวแน่นเป็นก้อน หรือที่เรียกว่า “ปมกล้ามเนื้อ (Muscle Knot)’ จึงทำให้เรารู้สึกเจ็บในบริเวณนั้น แต่ความเจ็บปวดจากการคลายปมกล้ามเนื้อ ก็ไม่เหมือนกับอาการเจ็บปวดเมื่อนวดแรงเกินไป หรือนวดผิดท่า ฉะนั้น

    ดังนั้น หากคุณรู้สึกว่าเจ็บมากจนทนไม่ไหว ควรรีบบอกให้นักนวดแผนไทย หรือหมอนวดแผนไทยทราบทันที หมอนวดจะได้ปรับความหนักเบาและท่าท่างในการนวดให้เหมาะสม คุณจะได้รู้สึกผ่อนคลาย และได้ประโยชน์จากการนวดจริง ๆ

    ความเสี่ยงจาก การนวดแผนไทย และใครบ้างไม่ควรนวด

    แม้การนวดแผนไทยจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากนวดบ่อยเกินไป นวดผิดท่า หรือลงน้ำหนักมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ หมอนวดแผนไทยที่ได้รับการรับรองจะต้องถามประวัติสุขภาพของคุณก่อนนวดให้คุณ เพราะการนวดแผนไทยอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน หากคุณมีปัญหาสุขภาพ เช่น

    • ความดันโลหิตสูง
    • โรคเบาหวาน
    • โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)
    • โรคกระดูกพรุน
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • มีรอยฟกช้ำ
    • ผิวหนังอ่อนแอหรืออักเสบ
    • ผิวหนังเป็นผื่น
    • มีแผลเปิดหรือแผลที่ยังไม่หายดี
    • มีเนื้องอก
    • มีความผิดปกติทางระบบประสาทที่ส่งผลต่อเส้นประสาทไขสันหลัง

    ก็ไม่ควรเข้ารับการนวดแผนไทย หรืออาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจเป็นอันตรายได้ หากแพทย์แจ้งว่านวดได้ คุณก็ต้องแจ้งสภาวะทางการแพทย์ของคุณให้หมอนวดทราบด้วย

    หรือหากคุณป่วยเป็นโรคมะเร็ง อยู่ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด กระดูกหักเพิ่งรักษาหาย หรือกำลังตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรเข้ารับการนวดแผนไทยเช่นกัน โดยเฉพาะการนวดกดจุดสะท้อน หรือการนวดที่รุนแรง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด หรือรุนแรงถึงขั้นทำให้แท้งลูกได้เลย

    ก่อนไปนวดแผนไทย เตรียมตัวอย่างไรดี

    • เลือกสถานประกอบการ และหมอนวดแพทย์ไทย ที่ได้รับใบรับรองและมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากสภาการแพทย์แผนไทย
    • ควรจองคิวนวดไทยล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ไปเสียเที่ยว
    • ไม่ควรนวดในช่วงที่ไม่มีอาการเจ็บ เช่น ไข้หวัด เพราะอาจไปแพร่เชื้อใส่ผู้อื่นได้ และหากคุณมีปัญหาสุขภาพต้องแจ้งให้หมอนวดทราบด้วย
    • สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าหลวม ๆ หรือที่ถอดเปลี่ยนได้สะดวก เพราะร้านนวดแผนไทยส่วนใหญ่ มักจะให้คุณเปลี่ยนชุดก่อนเข้ารับการนวด
    • ห้ามกินอาหารมื้อหนักก่อนนวด
    • ในระหว่างนวดแผนไทย หากคุณรู้สึกเจ็บปวด อึดอัด หรือไม่สบายจนทนไม่ไหว ควรแจ้งให้หมอนวดทราบทันที อย่าฝืนทน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/05/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา