เนื่องจาก โรคซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติของสมองที่หลั่งสารเคมีบางอย่างออกมา จนส่งผลกระทบต่อภาวะทางอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกที่ทำให้ผู้ป่วยมีทัศนคติในแง่ลบมากขึ้น และไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่เคย วันนี้ Hello คุณหมอ จึงขอนำความรู้ของการรักษาด้วย ทีเอ็มเอส (TMS) จากทางการแพทย์ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้น ให้ทุกคนได้ทราบก่อนเริ่มการรักษามาฝากกันค่ะ
ทีเอ็มเอส (TMS) คืออะไร
การรักษาด้วยทีเอ็มเอส (Transcranial magnetic stimulation; TMS ) คือ การกระตุ้นสมองอีกรูปแบบหนึ่ง โดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็กเข้าไปช่วยปรับปรุงเซลล์ประสาทส่วนกลางของผู้ป่วยที่ประสบกับภาวะซึมเศร้า เพื่อนำไปสู่การควบคุมอารมณ์ ความคิดให้คงที่ ซึ่งการบำบัดด้วย TMS อาจจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน ต่อสัปดาห์ แต่บางรายก็อาจต้องใช้ระยะเวลาบำบัดยาวนานเป็นเดือน ๆ ตามแต่การวินิจฉัยจากทางแพทย์ถึงอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
ขั้นตอนในการรักษาด้วยทีเอ็มเอส (TMS)
ก่อนการบำบัดด้วย TMS แพทย์อาจมีการซักประวัติทางสุขภาพ และเริ่มระบุจุดที่เหมาะสมที่สุดในการนำคลื่นสนามแม่เหล็กมาวางเอาไว้บนศีรษะ ซึ่งอาจใช้เวลาทั้งหมดในการบำบัดถึง 60 นาที ด้วยกันตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- แพทย์ หรือผู้ช่วย จะนำพาคุณไปนั่งบนเก้าอี้ที่ให้ความสะดวกสบาย
- จากนั้นจะเริ่มทำการสวมอุปกรณ์ป้องกันหู เพื่อลดเสียงดังจากเครื่องบำบัด
- ทำการนำเครื่องบำบัดแบบแนบชิดศีรษะ ที่มีขดลวดในการกระจายสนามแม่เหล็ก
- เปิดเครื่องบำบัดตามช่วงเวลาที่แพทย์ได้กำหนด
เมื่อเสร็จสิ้นการบำบัด แพทย์จะทำการปิดเครื่อง พร้อมให้คำแนะนำ และทำการนัดหมายเพื่อการบำบัดอีกครั้ง ในช่วงระยะเวลาถัดไป ซึ่งปกติแล้วหลังจากการบำบัดคุณสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในทันที โดยที่ไม่ต้องนอนพักฟื้นค้างคืนในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน
ผลข้างเคียง หลังจากการรักษา ด้วยทีเอ็มเอส (TMS)
ผลข้างเคียงทั่วไปที่ผู้ป่วยอาจได้รับจากการบำบัดด้วย TMS นี้ สามารถส่งผลกระทบบางอย่างต่อทางสุขภาพได้ตั้งแต่ในระดับปานกลาง จนถึงขั้นรุนแรงด้วยกัน ซึ่งคุณเริ่มเช็กตนเองถึงผลข้างเคียงหลังจากการรับบำบัดได้ ดังต่อไปนี้
ผลข้างเคียงระดับปานกลาง
- ปวดหัว
- กล้ามเนื้อใบหน้ามีการกระตุกเล็กน้อย
- รู้สึกไม่สบายหนังศีรษะบริเวณที่ได้รับการบำบัด
ผลข้างเคียงระดับรุนแรง
- อาการชัก
- สูญเสียการได้ยินหากมีการสวมอุปกรณ์ป้องกันหูไม่สนิท
- เข้าสู่ภาวะของโรคอารมณ์ดี หรืออารมณ์รุนแรงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยที่มีประวัติของโรคอารมณ์สองขั้ว
เมื่อคุณสังเกตตนเองว่าเริ่มมีอาการผิดปกติดังกล่าวที่ไม่ว่าจะอยู่ในระดับก็ตาม คุณควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ในทันที เพื่อให้แพทย์ได้แนะนำถึงวิธีการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมของผลข้างเคียงที่คุณประสบ