สุขภาพจิตก็เหมือนสุขภาพกาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา คุณควรไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีแก้ไขหรือเยียวยา และวิธีการทีเรียกว่า การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ก็เป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดที่ใช้รักษาอาการทางจิตใจหลากหลายแบบ ข้อดี และ ข้อเสีย ของ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ด้วยวิธีนี้มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม หมายถึงอะไร
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นการบำบัดโดยการพูดคุยประเภทหนึ่ง โดยนักบำบัดจะพูดคุยกับคุณเพื่อค้นหาปัญหาที่ซ่อนอยู่ และทำให้ปัญหานั้นเป็นเรื่องเล็กลง สามารถจัดการได้สะดวกขึ้น วิธีการนี้จะชี้ให้คุณเห็นว่า คุณสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีคิดและพฤติกรรมได้อย่างไร การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม หรือการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมนี้ มักใช้เพื่อลดอาการวิตกกังวล รักษาอาการซึมเศร้า รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ เช่น
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder – OCD)
- โรคตื่นตระหนก
- ความเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder -PTSD)
- โรคกลัว (Phobia)
- พฤติกรรมการกินผิดปกติ
- พฤติกรรมการนอนผิดปกติ
- ดื่มสุรามาก
- โรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ลำไส้แปรปรวน (IBS) และอาการล้าเรื้อรัง (CFS)
การบำบัดวิธีนี้อาจไม่ได้ส่งผลต่อโรคทางกาย หรือสามารถใช้รักษาโรคทางกายได้โดยตรง แต่ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับโรคทางกายที่เป็นได้ดีขึ้น
ข้อดี และ ข้อเสีย ของ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม
ข้อดี
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมมีประสิทธิภาพดี ในผู้ป่วยรายที่รู้สึกว่าใช้ยารักษาอย่างเดียวแล้วอาการไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ การบำบัดวิธีนี้ยังมีรูปแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย เช่น การบำบัดกลุ่ม การอ่านหนังสือแนะนำการบำบัดด้วยตนเอง โปรแกรมบำบัดทางทางออนไลน์
การบำบัดด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีแบบแผนที่ผู้ป่วยหรือผู้เข้ารับการบำบัดสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยมีวิธีแก้ปัญหาหรือมีทางออกที่ช่วยพัฒนาจิตใจในแต่ละวันด้วย
ข้อเสีย
การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม คือการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมซึ่งต้องอาศัยเวลาอย่างมาก และต้องมีความสม่ำเสมอ หากคุณไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ค่อยมีเวลา การบำบัดวิธีนี้ก็อาจไม่ได้ผล นอกจากนี้ การบำบัดวิธีนี้ยังมีโครงสร้างที่ซับซ้อน จึงอาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจที่ซับซ้อน หรือเรียนรู้ได้ยาก
หลายคนกลัวการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม เนื่องจากผู้เข้ารับการบำบัดจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสาเหตุที่ทำให้คุณเกิดปัญหาทางจิตใจ หากคุณเลือกเข้ารับการบำบัดวิธีนี้ เบื้องต้นก็ควรเตรียมตัวรับมือกับความหวาดกลัว หรือความไม่สบายใจต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ผลเสียที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของการบำบัดวิธีนี้ คือ การบำบัดด้วยวิธีนี้ไม่ได้ระบุถึงปัญหาอื่น ที่อาจมีผลต่อผู้ป่วยอย่างมาก เช่น ครอบครัวและปัจจัยทางสังคม
แม้ว่าการบำบัดวิธีนี้จะได้ผลดี แต่ก็อาจไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคน ฉะนั้น ต่อให้คนที่เคยเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีนี้ยืนยันว่าวิธีนี้สามารถรักษาพวกเขาได้ผลเป็นอย่างดี ก็ไม่ได้หมายความว่าการบำบัดวิธีนี้จะใช้ได้ผลกับคุณด้วย นอกจากนี้ การรักษาจะเน้นที่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่าปัญหาในอดีต ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยในบางกรณี เช่น ผู้ที่มีปัญหาทางจิต ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์รุนแรงในวัยเด็ก ก็อาจไม่ได้มีอาการดีขึ้นมากนักหลังเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีนี้