backup og meta

สิวกับความเครียด เกี่ยวข้องกันอย่างไร เครียดแล้วสิวขึ้นจริงหรือ?

เขียนโดย ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ · โรคผิวหนัง · สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


แก้ไขล่าสุด 16/07/2020

    สิวกับความเครียด เกี่ยวข้องกันอย่างไร เครียดแล้วสิวขึ้นจริงหรือ?

    ปัจจุบันนี้ คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตภายใต้ความเครียด เนื่องจากมีทั้งสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ ความต้องการส่วนตัวทางด้านการงาน ครอบครัว และด้านอื่นๆ ล้วนทำให้การดำเนินชีวิตชีวิตเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่าง สิวกับความเครียด พฤติกรรมที่คุณมักคิดว่าสามารถจัดการกับความเครียดได้ เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการบริโภคอาหารบางชนิดที่มากเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น มิหนำซ้ำ ยังไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความเครียดมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเกิดสิวโดยที่คุณไม่รู้ตัวอีกด้วย

    ความเครียดคืออะไร 

    คำว่า ‘ความเครียด’ ครอบคลุมประสบการณ์ที่เกิดจากความวิตกกังวลและปฏิกิริยาต่อประสบการณ์เหล่านั้น โดยทั่วไป ความเครียดหมายถึงความกดดันทางจิตวิทยาและอารมณ์

    ความหมายของความเครียดนั้นต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล ในระหว่างการเดินทาง คุณอาจพบว่าการขับรถช่วยให้ผ่อนคลายและสามารถฟังเพลงในขณะขับรถได้ แต่สำหรับอีกคนหนึ่ง ความเครียดอาจเกิดขึ้นจากความหงุดหงิดจากการจราจร การสูญเสียคนรัก การหย่าร้าง ตกงาน และปัญหาทางการเงิน เป็นสาเหตุทั่วไปที่พบบ่อยของความเครียด หรือแม้แต่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็นความสุขก็ยังสามารถทำให้เกิดความเครียดในบางคนได้ เช่น การคลอดบุตร หรือการแต่งงาน เป็นต้น

    ความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

    เมื่อคุณรู้สึกเครียด อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มสูงขึ้น กล้ามเนื้อบีบตัวมากขึ้น และเริ่มหายใจเร็วขึ้น เนื่องมาจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา เช่น คอร์ติซอล (cortisol) เอพิเนฟรีน (epineprine) และ อะดรีนาลีน (adrenaline)

    ความเครียดระยะสั้น

    ความเครียดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวส่งผลต่อร่างกาย ในระยะสั้น การหายใจที่เร็วขึ้นอาจทำให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด อัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้นอาจทำให้เกิดอาการหัวใจวาย ปฏิกิริยาของความเครียดต่อระบบทางเดินอาหารอาจทำให้รู้สึกปวดท้อง โรคกระเพาะกำเริบ คลื่นไส้อาเจียนหรือมีอาการท้องร่วงได้ นอกจากนี้ ความเครียดและความวิตกกังวลเองก็สามารถทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะมีอาการแพนิค (panic attack) ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

    ความเครียดระยะยาว

    ความเครียดในระยะยาวสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทุกระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบการย่อยอาหารล้วนได้รับผลกระทบจากความเครียดเรื้อรัง นอกจากนี้ มีการศึกษามากมายยืนยันว่า สิวกับความเครียด มีความสัมพันธ์กัน โดยความเครียดมีผลกระทบต่อผิวหนัง สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการและความผิดปกติทางผิวหนังต่างๆ ได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคต่อมไขมันอักเสบเรื้อรัง (seborrheic dermatitis) และโรคสิว (acne vulgaris) นอกจากนี้ ยังพบว่าความเครียดที่มากขึ้นสัมพันธ์กับการเป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเป็นสิวนั้นยังกลับมาทำให้ความเครียดเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

    วิธีการจัดการสิวให้หายเครียด

    หากอาการสิวทำให้คุณเครียด มีการรักษาหลายวิธีที่คุณสามารถลองทำได้ สิวเกิดจากการอักเสบของผิวหนัง น้ำมันในผิวหนัง และแบคทีเรียที่อุดตันในรูขุมขน หลักการดูแลตนเองเมื่อเป็นสิวที่สำคัญมี 6 ประการ

  • ล้างหน้าให้สะอาดทุกวันตอนเช้าและก่อนนอน
  • ไม่แกะเกาหรือบีบสิว
  • ดูแลเสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนให้สะอาด
  • หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา สารเคมี เครื่องสำอางซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดสิว
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ปกติแล้วสิวสามารถหายได้เอง ในกรณีที่เป็นสิวอุดตัน การรักษาที่เหมาะสมคือการใช้ยาทาที่ช่วยลดการอุดตัน เช่น ยาทา เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) หรือยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ (retinoic acid) จะช่วยทำให้สิวหลุดออกได้ง่ายขึ้นโดยอาจทาร่วมกับการกดสิว อย่างไรก็ตามเนื่องจากยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองถ้าใช้ไม่ถูกต้อง จึงแนะนำว่าควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังก่อนเริ่มทำการรักษา ในกรณีที่สิวอักเสบมากขึ้นหลังทายา หรือใช้ยาทาต่อเนื่องหลายสัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหรือกรดวิตามินเอ ควบคู่กับการทายาด้วยหรือไม่

    Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    เขียนโดย

    ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์

    โรคผิวหนัง · สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


    แก้ไขล่าสุด 16/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา