ฆ่าตัวตาย หรือผู้ที่มีความคิดอยากจบชีวิตตัวเอง อาจเกิดจากการทำร้ายตัวเองด้วยความเจตนา ทั้งยังอาจเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บและความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก การกลั่นแกล้ง ความรุนแรงทางเพศ ปัญหาในครอบครัว หากคนในครอบครัว คนใกล้ชิด รวมถึงตนเอง เริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เช่น รู้สึกสิ้นหวังเริ่มมีภาวะซึมเศร้า ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการรักษา
ฆ่าตัวตาย คืออะไร
การฆ่าตัวตาย คือ สถานการณ์ร้ายแรงที่นำอาจนำไปสู่การเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 6.59 ต่อแสนประชากร โดยสัญญาณเตือนของผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตายอาจ มีดังนี้
- แยกตัวออกจากสังคม ชอบอยู่คนเดียว
- อารมณ์แปรปรวน
- พูดเรื่องการฆ่าตัวตาย หมกมุ่นอยู่กับการตาย การใช้ความรุนแรงบ่อยครั้ง
- หาวิธีฆ่าตัวตาย เช่น ซื้อยา หรืออุปกรณ์ของมีคม
- รู้สึกสิ้นหวัง
- ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดเพิ่มขึ้น
- ทำร้ายตัวเองหรือทำในสิ่งที่เสี่ยงนำไปสู่ความตาย เช่น ขับรถเร็ว
- ให้สิ่งของ หรือพูดสื่อสารเชิงอำลาแก่บุคคลสำคัญ ครอบครัว เพื่อน
หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบขอความช่วยเหลือจากคุณหมอทันที เพื่อหาวิธีพูดคุยให้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ป่วย
สาเหตุที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดความคิดฆ่าตัวตายอาจมาจากการสะสมความเครียดจนหาทางแก้ไขปัญหาที่ตัวเองเผชิญอยู่ไม่ได้ เช่น สภาวะทางเศรษฐกิจ การเงิน การงาน หรือปัญหาส่วนตัวจากสถานการณ์เลวร้ายจนฝังใจ โดยสาเหตุที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย อาจมีดังนี้
- มีประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือโดนทำร้ายร่างกาย
- ถูกกลั่นแกล้งรุนแรง
- สูญเสียคนสำคัญหรือมีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว เพื่อน
- ถูกสังคมหรือคนรอบข้างเหยียดรสนิยมทางเพศ
- ภาวะสุขภาพ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึมเศร้า
- ปัญหาสังคม เช่น เศรษฐกิจ การตกงาน การหย่าร้าง การสูญเสียคนที่รัก การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกกลั่นแกล้งให้อับอาย
- พูดถึงปัญหาที่อาจไม่มีทางแก้ ความสิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย
- พฤติกรรมการใช้สารเสพติด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก เช่น ทารุณกรรม ขาดความอบอุ่นในวัยเด็ก
- ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
- การใช้สารเสพติด
- ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อที่ว่าการฆ่าตัวตายเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
การป้องกันการฆ่าตัวตาย
วิธีที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
- ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดควรมีส่วนร่วมการบำบัดหรือปลอบโยนจิตใจให้แก่ผู้ป่วย หรือหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
- ผู้ดูแลควรหากิจกรรมในครอบครัวทำร่วมกันเพื่อลดอาการซึมเศร้า เช่น การออกกำลังกายหรือออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนจิตใจ
- สอนทักษะการเผชิญกับปัญหา และการแก้ปัญหา รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ทางสังคม อารมณ์ การเลี้ยงดู และความสัมพันธ์ในครอบครัว
- เก็บสารเคมี ยาอันตราย อุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการฆ่าตัวตาย เช่น ปืน มีด ให้มิดชิดจากผู้ป่วย
- เข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอ โดยคุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น
-
- จิตบำบัด เป็นการพูดคุยระบายความรู้สึกของผู้ป่วยและปัญหาที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญเพื่อให้คุณหมอได้รับรู้และปรับความคิดแนะนำทักษะการจัดการอารมณ์
- ยา คุณหมออาจให้ยารักษาความวิตกกังวล ยาต้านซึมเศร้า และยารักษาโรคทางจิตอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย
- รักษาอาการติดยาเสพติด กรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติการเสพยาเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมดังกล่าวและล้างสารพิษ พร้อมวางแผนบำบัดให้ลดอาการอยากยา