backup og meta

ตรวจโรคซึมเศร้า การรักษาและวิธีดูแล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    ตรวจโรคซึมเศร้า การรักษาและวิธีดูแล

    โรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ที่สามารถเป็นได้โดยไม่รู้ตัว โดยอาจสังเกตได้จากอารมณ์แปรปรวน การนับถือตนเองต่ำ ไม่มีสมาธิจดจ่อในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจเกิดจากความเครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป ดังนั้น จึงควรเข้ารับการ ตรวจโรคซึมเศร้า และรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรช่วยเทาอาการและลดความเสี่ยงการเกิดภาวะรุนแรง เช่น การทำร้ายคนรอบตัว การทำร้ายตัวเองที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

    โรคซึมเศร้า คืออะไร

    โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มีประวัติเป็นโรคทางจิตเวชมาก่อน การใช้ยาบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะหลังคลอดบุตร ภาวะก่อนเป็นประจำเดือน และความเครียดจากปัญหารอบตัว ยกตัวอย่าง การทำงาน การเรียน ครอบครัว การเงิน ความสัมพันธ์ การสูญเสียบุคคลที่รัก เป็นต้น

    สัญญาณที่บ่งบอกว่าควรตรวจโรคซึมเศร้า

    สัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้า อาจสังเกตได้ดังนี้

    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
    • รู้สึกเศร้าในใจ รู้สึกสิ้นหวัง
    • ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต
    • มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองบ่อยครั้ง
    • รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย
    • รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและมักโทษตัวเองตลอดเวลา
    • ไม่มีสมาธิจดจ่อ
    • พูด เคลื่อนไหว และคิดช้า
    • รู้สึกหมดแรง เหนื่อยง่าย
    • ความอยากอาหารลดลงหรือเพิ่มขึ้น
    • นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
    • ติดสุราหรือสารเสพติด
    • ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม มักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้สูงอายุ

    ควรเข้ารับการตรวจโรคซึมเศร้าและรักษาอย่างรวดเร็ว หากสังเกตว่ามีสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้าดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อมีความคิดทำร้ายตัวเองและอยากฆ่าตัวตาย

    ตรวจโรคซึมเศร้า ทำได้อย่างไรบ้าง

    การตรวจโรคซึมเศร้า อาจทำได้นี้

    • การตรวจร่างกาย คุณหมออาจตรวจร่างกายโดยรวมและถามคำถามที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย
    • การตรวจต่อมไทรอยด์ เพื่อตรวจสอบว่าต่อมไทรอยด์มีการทำงานผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมอารมณ์และความรู้สึก เพราะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหรือระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้
    • การประเมินอาการทางจิตเวช คุณหมออาจให้ทำแบบสอบถามเชิงจิตวิทยาเพื่อทดสอบความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
    • การประเมินแบบดีเอสเอ็ม-5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders : DSM-5) เป็นคู่มือของทางการแพทย์ที่คุณหมอใช้วินิจฉัยความผิดปกติทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง เป็นการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าของสมอง เพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติหรือไม่

    การรักษาโรคซึมเศร้า

    การรักษาโรคซึมเศร้อาจทำได้ดังนี้

    ยา

    • กลุ่มยาต้านซึมเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake Inhibitors) เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram) เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) และ ไวลาโซโดน (Vilazodone) เพื่อช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินในสมอง และควบคุมอาการของซึมเศร้าให้อยู่ในสภาวะปกติ
    • กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาท เช่น เดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) และ ลีโวมิลนาซิแพรน (Levomilnacipran) เพื่อช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยควบคุมอาการโรคซึมเศร้า ส่งผลให้นอนหลับง่ายและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
    • กลุ่มยากล่อมประสาท เช่นบูโพรพิออน (Bupropion) เมอร์เทซาปีน (Mirtazapine) เนฟาโซโดน (Nefazodone) ทราโซโดน (Trazodone) เพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า กระตุ้นการทำงานของสารเซโรโทนินที่ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า
    • กลุ่มยาไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) เช่น อิมิพรามีน (Imipramine) นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ด็อกเซปิน (Doxepin) ไทรมิพรามีน (Trimipramine) เดซิพรามีน (Desipramine) เพื่อช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีเรี่ยวแรงขึ้น ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและลดความเครียด
    • สารยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส(Monoamine Oxidase Inhibitors) เพื่อช่วยยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส ที่อาจทำลายสารสื่อประสาทในสมองอย่างเซโรโทนินจนนำไปสู่อาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงรุนแรง ในระหว่างที่ใช้ยาควรเข้าพบคุณหมอเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

    การบำบัดจิตใจ

    เป็นการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการพูดคุยเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม ที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการซึมเศร้า ปรับพฤติกรรมการเข้าสังคมให้เป็นไปในเชิงบวก ส่งผลให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงการมีความคิดกับตัวเองในเชิงลบ

    การบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy)

    เป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังสมอง ช่วยกระตุ้นสื่อประสาทเพื่อช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านอาการซึมเศร้าและมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตาย

    การบำบัดด้วยการกระตุ้นคลื่นแม่เหล็ก (Tanscranial magnetic stimulation)

    เป็นวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่เหมาะกับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ส่งคลื่นแม่เหล็กเข้าไปกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมอง เพื่อช่วยควบคุมอารมณ์และอาการซึมเศร้า

    วิธีดูแลตัวเองและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

    วิธีดูแลตัวเองและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาจทำได้ดังนี้

    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เช่น การใช้ยา การเข้ารับการบำบัดจิตใจ เข้าพบคุณหมอตามกำหนด
    • หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติดเพราะอาจทำให้สารเคมีในสมองที่ส่งผลให้อาการซึมเศร้าแย่ลงและทำให้การรักษายากโรคซึมเศร้ายากขึ้น
    • พูดคุยระบายความรู้สึกในใจโดยผู้คนรอบข้างควรรับฟัง ใส่ใจ และพูดปลอบโยนในเชิงบวกกับผู้ป่วย เนื่องจากผู้ที่เป็นซึมเศร้ามีอารมณ์อ่อนไหวค่อนข้างมาก หากคนรอบข้างขาดความเข้าใจอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าแย่ลงได้
    • ดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
    • ควรผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น นอนพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ ผู้ดูแลอาจมีความเครียดสูงในระหว่างการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดังนั้นการผ่อนคลายความเครียดจึงอาจเป็นวิธีช่วยเยี่ยวยาจิตใจและทำให้มีเรี่ยวแรง พร้อมดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา