backup og meta

ทำไมคนเราถึงชอบนินทา ถ้าถูกนินทาควรทำอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2023

    ทำไมคนเราถึงชอบนินทา ถ้าถูกนินทาควรทำอย่างไร

    เชื่อว่าเราทุกคนต่างเคย นินทา ผู้อื่น และถูกผู้อื่นนินทา จากเหตุการณ์ดาราสาวกลุ่มหนึ่งทำคลิปพาดพิงถึงบุคคลที่สามทำให้คนในสังคมมองว่า เป็นการจับกลุ่มนินทาซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร จริง ๆ แล้ว การนินทาเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ทำไมเราถึงชอบนินทา การนินทามีประโยชน์หรือโทษอย่างไร ถ้ารู้ว่าถูกนินทาควรจัดการอย่างไร ลองมาหาคำตอบกัน

    ทำไมคนเราถึงชอบจับกลุ่มนินทาผู้อื่น

    การนินทาทำให้คนในวงสนทนารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ เป็นที่ยอมรับ และไม่ถูกผลักออกไปเป็นคนนอกกลุ่มซึ่งมักจะเป็นผู้ที่ถูกนินทา นอกจากนี้ การนินทายังเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด และหากเป็นผู้ที่เปิดบทสนทนาจะทำให้ได้รับความสนใจจากผู้อื่น จึงไม่แปลกหากคนเราจะกระหายที่จะพูดถึงเรื่องของคนอื่นอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนไกลตัวที่คุ้นเคยอย่างศิลปิน ดารา คนใกล้ตัวอย่างคนในครอบครัว เพื่อนสมัยเรียน เพื่อนบ้าน และแม้แต่เพื่อนร่วมงานก็ตาม

    ทั้งนี้ การนินทาเป็นเครื่องมือการสื่อสารทางสังคมที่เป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน การจับกลุ่มพูดคุยกันในลักษณะนี้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของทุกคน สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ได้ให้คำนิยามของคำว่า นินทา (Gossip) ไว้ว่า “การพูดคุยอย่างเป็นส่วนตัวหรือการสื่อสารข้อมูลที่มักยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง การนินทาอาจเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาอื้อฉาวหรือมีเจตนามุ่งร้าย นอกจากนั้น การนินทายังมีประโยชน์ต่อความเป็นสังคมมนุษย์หรือกระบวนการสร้างกลุ่ม (Group process) ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ (Bonding) การส่งต่อบรรทัดฐาน (Norm transmission) การเสริมแรงบรรทัดฐาน (Norm reinforcement)”

    บทสนทนาแบบใดที่เรียกว่า นินทา

    การนินทามักหรือการพูดถึงผู้อื่นในขณะที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น และมักเกิดขึ้นเมื่อใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มทำสิ่งที่คนในกลุ่มคิดว่าแปลกแยกหรือแตกต่างไปจากตัวเอง การนินทาอาจนำไปสู่แพร่ข่าวลือหรือสร้างเรื่องน่าอับอายให้ผู้ที่ถูกนินทาได้ อย่างไรก็ตาม การนินทาอาจไม่ได้หมายถึงแค่เพียงการพูดถึงผู้อื่นลับหลังด้วยการพูดจาให้ร้ายหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังอาจหมายรวมถึงการแบ่งปันข้อมูลของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงสนทนาด้วย เช่น การพูดถึงเพื่อนร่วมงานที่กำลังจะลาออกไปที่อื่นและแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับเหตุผลในการลาออกก็ถือว่าเป็นการนินทาแล้วเช่นกัน เพียงแต่เป็นการพูดถึงอย่างกลาง ๆ นอกจากนี้ การนินทานั้นมีหลายแง่มุมและไม่ได้เป็นเรื่องไม่ดีไปเสียทั้งหมด มีได้ทั้งการพูดถึงในแง่บวก แง่ลบ และแง่เป็นกลางที่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางสังคมเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการพูดถึงในแง่ลบ

    การนินทามีประโยชน์หรือส่งผลเสียต่อใครอย่างไรบ้าง

    แม้หลายคนจะไม่อยากยอมรับ แต่ทุกคนก็ล้วนเคยนินทาใครสักคนสักครั้งมาก่อน หากจะให้พูดถึงประโยชน์ของการนินทา ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างและรักษาความสัมพันธ์ ทั้งยังช่วยสานสัมพันธ์ของกลุ่มสังคมให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีแค่ในเฉพาะกลุ่ม สร้างบรรทัดฐานหรือจารีตทางสังคม ตลอดจนสร้างความไว้วางใจต่อกันและกัน

    สำหรับข้อเสียของการนินทา ย่อมตกอยู่ที่ผู้ที่ถูกนินทา เนื่องจากเป็นเป้าหมายของการพูดถึง อาจทำให้ถูกกีดกันจากสังคมนั้น ๆ สร้างความอับอายและเสื่อมเสียชื่อเสียง รวมทั้งอาจทำให้คนในกลุ่มเกิดอคติและเลือกปฏิบัติในทางที่ผิด นอกจากนั้น หากผู้ถูกนินทาทราบว่าตนเองถูกนินทาอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจและนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคแพนิค โรคซึมเศร้า โรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) ได้อีกด้วย

    วิธีรับมือคำนินทาอย่างเหมาะสม

    หลายคนอาจสงสัยว่า คำนินทาเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แล้วจะมีวิธีใดบ้างสำหรับรับมือหากถูกนินทา ทั้งนี้ การรับมือเมื่อถูกนินทานั้นขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของแต่ละคน ผู้ที่มักแก้ปัญหาด้วยการเผชิญหน้า อาจจะพูดคุยโดยตรงกับคนที่นินทาตัวเองเพื่อที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดอย่างตรงไปตรงมา วิธีนี้อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ในระยะยาว และบางครั้งก็ไม่ได้ช่วยหยุดการนินทาหลายคนเลือกที่จะปล่อยวางและใช้ชีวิตของตัวเองตามปกติ ซึ่งอาจจะทำได้ยากแต่เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลและช่วยให้ผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้ เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนคนรอบข้างหรือควบคุมสถานการณ์รอบตัวได้ แต่การเปลี่ยนความคิดของตัวเราเองอาจทำได้ง่ายกว่า และต้องไม่ลืมว่าไม่มีใครที่ไม่ถูกนินทา

    นอกจากนี้ การยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ทุกเรื่องและไม่นำเรื่องเหล่านี้มาคิดให้ขุ่นเคืองก็อาจเป็นวิธีที่ทำให้จิตใจของเราสงบสุขมากที่สุดและผ่านเหตุการณ์ถูกนินทาไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจมากนัก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา