backup og meta

เลิกเหยียดคนอื่นกันเถอะ เพราะ การเหยียด มีแต่จะทำให้เสียสุขภาพ

เลิกเหยียดคนอื่นกันเถอะ เพราะ การเหยียด มีแต่จะทำให้เสียสุขภาพ

การดูถูก หรือ การเหยียด ผู้อื่นนั้นมีอยู่ในทุกสังคม คนเราสามารถเหยียดกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การแต่งตัว หน้าที่การงาน รูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ หรือที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ก็คือ เหตุการณ์ความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติ หรือการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกหันมาต่อต้านการเหยียดกันอย่างเต็มที่

หากว่ากันตามตรง คุณเองก็อาจจะเคยเหยียดคนอื่นโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน และบ่อยครั้ง การเหยียดผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็มักจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาอาชญากรรมในสังคม รวมไปถึงปัญหาด้านสุขภาพด้วย ว่าแต่การเหยียดนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง เราไปดูกันเลย

ผลกระทบต่อสุขภาพจาก การเหยียด

การเหยียด กับปัญหาสุขภาพกาย

งานวิจัยโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychoneuroendocrinology เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562 ระบุว่า การโดนเหยียดเรื่องเชื้อชาติและการโดนเลือกปฏิบัติทำให้ร่างกายของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาเกิดภาวะอักเสบในระดับเซลล์มากขึ้น และเมื่อเซลล์ในร่างกายอักเสบนาน ๆ เข้า ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้ เช่น ภาวะหัวใจวาย โรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย (Metastatic cancer) กลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neurodegenerative diseases) อย่างโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

โดยงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมงานศึกษาวิจัยในครั้งนี้ทั้งสิ้น 71 คน โดยจำนวน ⅔ ของทั้งหมด เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ส่วนอีก ⅓ ที่เหลือเป็นคนผิวขาว และ 38 คนจากทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

เมื่อนักวิทยาศาสตร์สกัดเอาอาร์เอ็นอาร์ หรือกรดไรโบนิวคลีอิก (Ribonucleic acid หรือ RNA) ออกมาจากเซลล์ของกลุ่มตัวอย่าง แล้วนำมาคำนวณหาโมเลกุลที่เป็นตัวกระตุ้นภาวะอักเสบ และโมเลกุลที่ตอบสนองต่อการต้านไวรัส ก็พบว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกามีระดับของโมเลกุลที่ก่อให้เกิดการอักเสบสูงกว่า อีกทั้งผลการวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า การเหยียดเชื้อชาติ อาจทำให้กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาทั้งที่ติดเชื้อเอชไอวีและไม่ติดเชื้อเกิดการอักเสบได้มากกว่าปกติถึง 50% เลยทีเดียว

แม้งานวิจัยดังกล่าวจะมุ่งเน้นที่การเหยียดเชื้อชาติ แต่นักวิจัยก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติ หรือการโดนดูถูกในด้านอื่น ๆ ที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องฐานะ ก็อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบต่อร่างกาย จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน

การเหยียดกับปัญหาสุขภาพจิต

การเหยียดนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย โดยงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาต่างได้ผลออกมาตรงกันว่า การเหยียดนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ความตึงเครียดทางด้านจิตใจ บาดแผลทางใจ

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การถูกเหยียดไม่ว่าจะโดนบ่อย ๆ หรือโดนแค่ครั้งเดียว ก็สามารถก่อให้เกิดบาดแผลทางใจได้ทั้งสิ้น และบาดแผลทางใจที่เกิดจากการถูกเหยียดนั้นสามารถนำไปสู่อาการทางกายและอาการทางจิตได้มากมาย เช่น

  • หวาดกลัว
  • ตกใจง่าย หรือหวาดระแวงมากเกินไป
  • สับสน
  • รู้สึกอับอายหรือรู้สึกผิดที่ตัวเองโดนเหยียด
  • โทษตัวเอง
  • ปวดศีรษ

ไม่ว่าจะเหยียดเรื่องอะไร ก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทั้งสิ้น หรือบางครั้ง การเหยียดก็อาจเป็นชนวนของปัญหาที่ร้ายแรงกว่าอย่างการทำร้ายร่างกาย หรือการฆ่าแกงกันก็ได้ ดังนั้นพวกเราควรเลิกเหยียดคนอื่น ทั้งทางกาย วาจา และใจ ด้วยการเรียนรู้ในการยอมรับความแตกต่าง เพราะความต่างไม่ใช่ความผิด ถึงเราจะแตกต่างกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุขไม่ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Study: Racism shortens lives and hurts health of blacks by promoting genes that lead to inflammation and illness. https://dornsife.usc.edu/news/stories/3094/study-shows-racism-shortens-lives-hurts-blacks-inflammation/. Accessed June 15, 2020

The Effects of Racism on Mental Health: How to Cope. https://adaa.org/webinar/consumer/effects-racism-mental-health-how-cope. Accessed June 15, 2020

RACISM AND CHRONIC INFLAMMATION. https://www.precinctreporter.com/2019/06/27/racism-and-chronic-inflammation/. Accessed June 15, 2020

Study links racism to chronic inflammation and disease risk among African Americans. https://medicalxpress.com/news/2019-05-links-racism-chronic-inflammation-disease.html. Accessed June 15, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/06/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ใครอีคิวไม่ดี เรามี วิธีเพิ่มอีคิว (E.Q.) ช่วยกระตุ้นความฉลาดทางอารมณ์มาฝาก

สำรวจตัวเอง เป็น Sociopath ชอบต่อต้านสังคม หรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 26/06/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา