คุณอาจมองว่า การ เซลฟี (Selfie) หรือการถ่ายรูปตนเองด้วยกล้อง แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย เป็นเพียงการแชร์เรื่องราวของตัวเองให้เพื่อนๆ รู้ แต่มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ผู้ที่ชอบเซลฟีบ่อยๆ และลงรูปเซลฟีวันละหลายๆ ครั้ง อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเป็น โรคหลงตัวเอง ก็เป็นได้
เซลฟี เป็นประจำ เป็นอาการของโรคหลงตัวเองหรือเปล่า
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Open Psychology Journal ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 74 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี เป็นเวลา 4 เดือน และพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่โพสต์รูปภาพจำนวนมากและเซลฟีบนโซเชียลมีเดีย มีลักษณะนิสัยที่แสดงความหลงตัวเอง เช่น ชอบโอ้อวด รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น ต้องการการยอมรับอย่างมาก เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เข้าข่ายเป็นโรคหลงตัวเอง เมื่อวัดจากเกณฑ์ที่ทีมนักวิจัยกำหนดไว้ ในขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่เน้นโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย ไม่เน้นโพสต์รูปเซลฟี กลับไม่พบความเปลี่ยนแปลงนี้แต่อย่างใด
แม้งานวิจัยชิ้นนี้พบการโพสต์รูปเซลฟีบ่อยๆ นั้นสามารถทำให้คนเราหลงตัวเองมากขึ้นได้ แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่โพสต์รูปเซลฟีบ่อยๆ จะต้องกลายเป็นโรคหลงตัวเองเสมอไป แต่นักวิจัยก็ชี้ว่า หากเปรียบกลุ่มตัวอย่างเป็นประชากร ก็เท่ากับว่า ประชากรประมาณ 20% อาจมีลักษณะนิสัยหลงตัวเองมากขึ้น เนื่องจากใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม มีงานศึกษาวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาการโพสต์ภาพเซลฟีของผู้ชาย และพบว่า ผู้ที่โพสต์ภาพเซลฟีบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหลงตัวเองเสมอไป และผู้ที่ไม่ค่อยโพสต์ภาพเซลฟี ก็อาจเป็นโรคหลงตัวเองได้เช่นกัน เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ส่งผลต่อพฤติกรรม นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายที่มีภาวะหลงตัวเองมีแนวโน้มจะโพสต์รูปเซลฟี ส่วนผู้หญิงที่เป็นโรคหลงตัวเอง ส่วนใหญ่ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างการโพสต์รูปเซลฟีกับความหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเองคืออะไร
โรคหลงตัวเอง หรือ (Narcissistic personality disorder) เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ที่เป็นภาวะทางจิตของมนุษย์ที่รู้สึกว่าตัวเองสำคัญกว่า หรือเหนือกว่าผู้อื่น ต้องการการยอมรับและการชื่นชมจากผู้อื่นอย่างมาก ทั้งอาจยังมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ และขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเองอาจแสดงออกว่าตัวเองมั่นใจมาก เพื่อปกปิดความจริงที่ว่า ตัวเองไม่มั่นใจ มีความนับถือตนเองต่ำ จนเปราะบางต่อคำวิจารณ์
โรคหลงตัวเองอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ เช่น ปัญหาด้านความสัมพันธ์ การงาน โรงเรียน ปัญหาด้านการเงิน นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเองยังมักผิดหวังและไม่มีความสุข หากไม่ได้รับการชื่นชมเป็นพิเศษ หรือไม่เป็นที่โปรดปราน อย่างที่พวกเขาเชื่อว่าตัวเองสมควรจะได้รับ
อาการของโรคหลงตัวเอง
สัญญาณและอาการของโรคหลงตัวเอง ได้แก่
- รู้สึกว่าตัวเองสำคัญมากกว่าคนอื่น
- รู้สึกว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์ และต้องการการชื่นชมอย่างมาก
- คาดหวังจะได้รับการยอมรับว่าตัวเองเหนือกว่า ทั้งที่ไม่มีความสำเร็จในเรื่องใดๆ มารับประกัน
- มีความสำเร็จและพรสวรรค์ที่เกินจริง
- หมกมุ่นอยู่กับความเพ้อฝันเกี่ยวกับความสำเร็จ พลัง ความสามารถ ความสวยงาม หรือคู่ครองที่สมบูรณ์แบบ
- เชื่อว่าตัวเองเหนือกว่า และจะคบหากับคนที่คิดว่าพิเศษพอๆ กับตัวเองเท่านั้น
- สนทนาอยู่ฝ่ายเดียว และดูแคลนหรือดูถูกคนอื่น ที่เห็นว่าด้อยกว่า
- คาดหวังการชื่นชม และคนอื่นต้องไม่ตั้งคำถาม กับความคาดหวังของพวกเขา
- ใช้ประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
- ไม่สามารถรับรู้ความต้องการหรือความรู้สึกของคนอื่นได้
- อิจฉาผู้อื่น และเชื่อว่าคนอื่นก็อิจฉาตนเอง
- มีพฤติกรรมชอบคุยโว อวดรู้ หยิ่ง และอวดดี
- ต้องมีทุกอย่างที่ดีที่สุด เช่น รถที่ดีที่สุด ที่ทำงานที่ดีที่สุด
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่
ผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเอง มักไม่อยากรับรู้ความจริงว่าตัวเองผิดปกติ จึงไม่ค่อยยอมเข้ารับการวินิจฉัยหรือรักษาอาการ ส่วนในกรณีที่ผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเองจะเข้ารับการรักษานั้น มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีอาการของโรคซึมเศร้า มีการใช้ยาเสพติดหรือติดแอลกอฮอล์ รวมถึงมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ที่ต้องเข้ารับการรักษา ฉะนั้น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลงตัวเอง จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด