หลาย ๆ คนเคยรู้สึกกลัวตุ๊กตาของตัวเองกันบ้างหรือเปล่าคะ โดยเฉพาะตุ๊กตาที่มีรูปร่างเหมือนคน หรือสามารถกระพริบตาได้ ยิ่งมองดูก็ยิ่งรู้สึกเหมือนว่าตุ๊กตาเหล่านี้มีชีวิต ทำเอาเด็ก ๆ หลายคนร้องไห้เวลาได้รับตุ๊กตาเสียไปอย่างนั้น อาการกลัวตุ๊กตาเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณของ โรคกลัวตุ๊กตา หนึ่งในโรคกลัวแปลก ๆ แต่กลับพบเห็นได้มาก โดยเฉพาะในเด็ก อาการของโรคนี้มีอะไรบ้าง Hello คุณหมอ มีข้อมูลมาฝากกันในบทความนี้
โรคกลัวตุ๊กตา คืออะไร
โรคกลัวตุ๊กตา (Pediophobia) หมายถึงอาการที่เรารู้สึกหวาดกลัว และหวาดระแวงต่อตุ๊กตาอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุผล โรคกลัวตุ๊กตานี้จัดอยู่ในกลุ่ม ‘Automatonphobia’ หมายถึงความกลัวที่มีต่อสิ่งที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับมนุษย์ เช่น รูปปั้น หุ่นลองเสื้อ หุ่นขี้ผึ้ง หรือหุ่นยนต์ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นโรคกลัวตุ๊กตานั้น บางคนอาจจะรู้สึกกลัวตุ๊กตาทุกประเภท แต่บางคนก็อาจจะกลัวแค่เฉพาะบางประเภท เช่น ตุ๊กตาโบราณแบบญี่ปุ่น ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ ตุ๊กตาเด็กทารก หรือตุ๊กตายัดนุ่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นตุ๊กตาที่มีลักษณะคล้ายกับมนุษย์หรือเด็กตัวเล็ก ๆ คือ มีตา มีปาก ขยับแขนขาได้ หรือกระพริบตาได้ ทำให้มีความรู้สึกน่ากลัว
โรคกลัวตุ๊กตานี้สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาทางจิตใจในอดีตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตุ๊กตา หรืออิทธิพลจากการอ่านและการดูหนังสยองขวัญที่มักจะนำตุ๊กตามาเป็นมาส่วนประกอบ หรือความเกี่ยวข้องระหว่างตุ๊กตากับไสยศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ล้วนแล้วแต่ก็สามารถหล่อหลอม และกลายเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกกลัวตุ๊กตาได้ทั้งสิ้น
อาการของโรคกลัวตุ๊กตา
เมื่อผู้ป่วยโรคกลัวตุ๊กตาเห็นตุ๊กตา หรือนึกถึงตุ๊กตา อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรง
- หายใจไม่ออก
- เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็ว
- เหงื่อออก
- ตัวสั่น
- เกิดอาการแพนิค (panic)
- กังวลใจ
- กรีดร้อง
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- หมดสติ
- บางคนอาจจะร้องไห้
ความกลัวที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความอันตรายหรือความน่ากลัวของตุ๊กตา ผู้ป่วยโรคกลัวตุ๊กตานั้นสามารถรู้สึกกลัวตุ๊กตายัดนุ่นหน้าตาน่ารักได้ หากอาการหวาดกลัวนี้มีอาการรุนแรงมากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา
หนทางในการรักษาโรคกลัวตุ๊กตา
วิธีการรักษาโรคกลัวตุ๊กตานั้นมีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การบำบัด การสะกดจิต หรือการใช้ยา แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการรักษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือการบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure therapy)
การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวนั้นจะทำได้โดยการให้ผู้ป่วยค่อยๆ เผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวผู้ป่วยรู้สึกกลัว ทีละนิดๆ เช่น สำหรับผู้ป่วยโรคกลัวตุ๊กตา ก็อาจจะค่อยๆ เริ่มจากการมองรูปถ่ายของตุ๊กตา เมื่อรู้สึกเคยชินมากขึ้นแล้วก็อาจจะเลื่อนขั้นไปเป็นอยู่ในห้องเดียวกันกับตุ๊กตา แล้วไปสัมผัสตุ๊กตา เป็นต้น
นอกจากการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวแล้ว จิตแพทย์ยังจะสอนเกี่ยวกับเทคนิคการจัดการกับความกลัวและความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดขึ้น เช่น ฝึกการหายใจเข้าออกช้า ๆ เพื่อสงบสติอารมณ์
เป้าหมายของการบำบัดนั้นคือเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความคุ้นชินกับตุ๊กตา และสามารถควบคุมหรือจัดการกับความรู้สึกของตนเองเมื่อมองเห็นตุ๊กตา เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ หรือไม่มีความกลัวต่อตุ๊กตาอีกต่อไป