backup og meta

Cyberbullying : การกลั่นแกล้งออนไลน์ ปัญหาความรุนแรงที่มองไม่เห็น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/04/2023

    Cyberbullying : การกลั่นแกล้งออนไลน์ ปัญหาความรุนแรงที่มองไม่เห็น

    Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะโลกอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้งานและปกปิดตัวตนของตัวเองได้ ผู้กลั่นแกล้งจึงสามารถปิดบังตัวตนอยู่หลังคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือโดยใช้ที่อยู่อีเมลที่ไม่ระบุตัวตนหรือใช้นามแฝง และพิมพ์ข้อความเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นเท็จ เพื่อสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ อาจช่วยให้สามารถตระหนักได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม

    Cyberbullying คืออะไร

    Cyberbullying คือ การกลั่นแกล้งรูปแบบหนึ่งที่พบได้ในช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้จะมีประโยชน์ในการใช้ติดต่อกับบุคคลอื่น ติดตามข่าวสาร และแชร์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่สื่อโซเชียลก็เป็นดาบสองคมที่อาจนำโทษมาให้ผู้ใช้งานได้เช่นกัน เพราะบางครั้ง โลกออนไลน์กลับถูกใช้เป็นช่องทางก่อกวนผู้อื่น เช่น การส่งข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม การแฮ็กเข้าสู่บัญชีผู้ใช้ของผู้อื่นแล้วเผยแพร่ข้อมูลสแปมหรือข้อความต่าง ๆ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผู้อื่น การส่งรูปภาพหรือวิดีโอผิดกฎหมาย

    แบบสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การก่อกวนออนไลน์ที่จัดทำโดยสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 โดยการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวอเมริกัน 4,248 คน พบว่า 41% ของผู้ทำแบบสำรวจเคยประสบกับการล่วงละเมิดทางออนไลน์บางรูปแบบอย่างการเรียกชื่อที่ไม่เหมาะสม (Name-calling) การทำให้อับอายโดยเจตนา รวมไปถึงการกลั่นแกล้งที่รุนแรงอย่างการขู่ทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และการสะกดรอยตาม (Stalk)

    โดยผู้ชายจะถูกเรียกด้วยชื่อที่ไม่เหมาะสม (หญิง 26% vs. ชาย 35%) และถูกขู่ทำร้ายร่างกาย (หญิง 11% vs. ชาย 15%) มากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงจะถูกคุกคามทางเพศ (หญิง 16% vs. ชาย 5%) หรือถูกสะกดรอยตามออนไลน์ (หญิง 13% vs. ชาย 9%) มากกว่า

    ผลกระทบที่เกิดจากCyberbullying

    การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ อาจส่งผลให้เหยื่อรู้สึกไม่สบายใจหรือไม่ปลอดภัย และอาจกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของเหยื่อได้

  • ผลกระทบต่อสุขภาพกาย เช่น ปวดศีรษะบ่อย คลื่นไส้ ปวดท้อง
  • ผลกระทบต่อจิตใจ เช่น เครียด วิตกกังวล รู้สึกโดดเดี่ยว หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ ซึมเศร้า
  • นอกจากนี้ การตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ยังอาจกระทบต่อการเรียนของผู้ถูกกลั่นแกล้งที่อยู่ในวัยเรียน โดยเฉพาะหากต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่กลั่นแกล้งตัวเองที่โรงเรียน ทำให้ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยแม้กระทั่งในโลกความเป็นจริง อีกทั้งผู้ถูกกลั่นแกล้งยังอาจมีปัญหาทางอารมณ์ สมาธิ และพฤติกรรม ตลอดจนปัญหาในการอยู่ร่วมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เด็กอาจไปใช้วิธีแก้ไขปัญหาในเชิงลบอย่างการใช้ยาเสพติดเพื่อรับมือกับความเครียด ในกรณีที่รุนแรง เด็กและวัยรุ่นที่ถูกกลั่นแกล้งอาจหันไปทำร้ายตัวเองหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

    วิธีรับมือกับ Cyberbullying

    การถูกคุกคามในช่องทางออนไลน์ อาจทำให้เหยื่อรู้สึกโดดเดี่ยวได้ง่าย ผู้ถูกกลั่นแกล้งจึงไม่ควรแยกตัวเองออกจากคนรอบข้างและรับมือกับปัญหาเพียงคนเดียว แต่ควรหันไปขอรับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน คนรัก ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิต ควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้ และเก็บบันทึกหลักฐานไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้ในการดำเนินคดีทางกฎหมายกับบุคคลที่กลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

    แม้ในปัจจุบัน กระแสสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะช่วยกันรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับการเคารพสิทธิและให้เกียรติผู้อื่นเพื่อลด Cyberbullying ซึ่งทำร้ายความรู้สึกของคนที่มีตัวตนและเจ็บปวดได้จริง แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทุกคนควรพึงระลึกอยู่เสมอว่า การเขียนข้อความที่แสดงออกถึงความเกลียดชังหรือทำร้ายจิตใจผู้อื่นแม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อาจทำให้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งมีบาดแผลในใจไปตลอดชีวิต

    ทุกคนจึงควรร่วมรณรงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักต่อปัญหานี้และผลักดันให้หยุดการกลั่นแกล้งกันบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น รีพอร์ตข้อความ หน้าเพจ แอคเคาต์ ที่เป็นปัญหา และกระตุ้นให้ผู้ให้บริการแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ดำเนินการกับผู้ใช้ที่ก่อปัญหาอย่างเด็ดขาด อาจช่วยให้เกิดพลังในการร่วมต่อต้านการกระทำในลักษณะนี้ได้อย่างเข้มแข็ง และช่วยทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ลดลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา