หนวดเครา เป็นขนบนใบหน้าผู้ชายที่จะเริ่มยาวขึ้นเมื่ออายุประมาณ 13-16 ปี ทั้งนี้ ผู้ที่ไว้หนวดเครามักถูกเข้าใจผิดในแง่ของความสะอาดหรือปัญหาสุขภาพของผิวบนใบหน้า นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับหนวดเครา เช่น การโกนจะทำให้หนวดเคราที่ขึ้นใหม่หนาดกยิ่งกว่าเดิม การไว้หนวดเคราจะทำให้รู้สึกร้อนกว่าปกติ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น
[embed-health-tool-bmi]
หนวดเคราต่างกันอย่างไร
หนวดเคราเป็นขนบนใบหน้าอย่างไรก็ตาม หนวดหมายถึงขนที่ขึ้นอยู่ใต้จมูกหรือเหนือริมฝีปากบน ในขณะที่เคราหมายถึงขนที่ขึ้นบริเวณคาง แก้ม ขากรรไกร หรือลำคอ
ความเข้าใจผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับ หนวดเครา
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหนวดเครา มีดังนี้
- การโกนจะทำให้หนวดเคราขึ้นใหม่เร็วขึ้นและหนาดกกว่าเดิม ความจริงแล้ว การโกนไม่มีผลต่อขนาดของเส้นขนบนใบหน้าที่ขึ้นใหม่ และไม่ได้ทำให้หนวดเคราขึ้นเร็วขึ้น โดยปกติแล้ว ภายใน 1 เดือน หนวดเคราจะยาวขึ้นราว ๆ ครึ่งนิ้ว
- หนวดเคราสร้างความรำคาญในช่วงที่อากาศร้อน ความจริงแล้ว หนวดเคราไม่ได้สร้างความรำคาญให้ใบหน้าในช่วงอากาศร้อน และไม่ได้ทำให้รู้สึกร้อนเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หนวดเคราอาจช่วยให้รู้สึกร้อนน้อยลงเพราะหนวดเคราที่ยาวปกคลุมบริเวณคางและลำคออาจช่วยปกป้องใบหน้าจากแสงแดดได้
- ไว้หนวดเคราแล้วทำให้คันตามใบหน้า ในช่วงที่ขนบนใบหน้ากำลังงอกขึ้นใหม่ อาจทำให้รู้สึกคันหรือระคายเคืองบ้าง แต่เมื่อหนวดเคราเริ่มยาวแล้วมักไม่ทำให้รู้สึกคัน อย่างไรก็ตาม อาการคันบริเวณใบหน้ามักเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ผิวหน้าแห้ง แพ้ครีมหรือเครื่องสำอาง
- หนวดเครานั้นสกปรก ความจริงแล้ว การไว้หนวดเคราไม่ได้ทำให้ผิวหนังบริเวณคาง แก้ม ขากรรไกรหรือคอสกปรกกว่าผู้ที่มีใบหน้าเกลี้ยงเกลา และไม่ได้เป็นแหล่งเชื้อโรคหากทำความสะอาดเป็นประจำ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับจำนวนแบคทีเรียบนใบหน้าของพนักงานโรงพยาบาล เผยแพร่ในวารสาร Journal of Hospital Infection ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 408 รายซึ่งเป็นพนักงานโรงพยาบาลโดยมีทั้งผู้ที่ไว้หนวดเคราและผู้ที่มีใบหน้าเกลี้ยงเกลาซึ่งมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การทำความสะอาดผิวหน้าที่คล้ายคลึงกัน พบว่าจำนวนแบคทีเรียบนใบหน้าของผู้ที่ไว้หนวดเครานั้นอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากผู้ที่มีใบหน้าเกลี้ยงเกลา ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าหนวดเคราไม่ได้เป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียและไม่ได้ก่อให้เกิดความสกปรกอย่างที่เข้าใจกัน แต่ความสกปรกของหนวดเคราอาจเป็นผลมาจากการไม่รักษาความสะอาดส่วนบุคคล
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ หนวดเครา
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนวดเครา มีดังต่อไปนี้
- ความดกหนาหรือบางของหนวดเคราสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) โดยผู้ชายที่มีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำจะมีหนวดเคราน้อยกว่าปกติ และการบริโภคเทสโทสเตอโรนทดแทน อาจช่วยให้หนวดเคราหนาขึ้นได้
- พันธุกรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หนวดเคราของผู้ชายแต่ละคนหนาหรือบางไม่เท่ากัน
- ปกติแล้ว ผู้ชายจะเริ่มมีหนวดเคราตอนอายุ 13-16 ปี และขนบนใบหน้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุประมาณ 30 ปี
- โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ชายสัมผัสหรือลูบเคราตัวเองประมาณ 760 ครั้ง/วัน หรือประมาณ 31.25 ครั้ง/ชั่วโมง
- หนวดเคราช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีหรืออัลตราไวโอเลต (Ultraviolet หรือ UV) ในแสงแดดได้ เนื่องจากเส้นขนที่ปกคลุมผิวหนังช่วยลดปริมาณแสงแดดที่สัมผัสผิวหนังโดยตรง งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของหนวดเคราในการป้องกันผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต ตีพิมพ์ในวารสาร Radiation Protection Dosimetry ปี พ.ศ. 2555 ได้ศึกษาโดยเปรียบเทียบผิวหนังระหว่างส่วนที่มีหนวดเครากับส่วนที่ไม่มีขน พบว่าขนบนใบหน้าหรือหนวดเคราช่วยลดปริมาณของรังสีอัลตราไวโอเลตที่สัมผัสโดนผิวหนังได้ประมาณ 1 ใน 3