backup og meta

Mental Health ปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้ชายไม่ควรละเลย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/10/2022

    Mental Health ปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้ชายไม่ควรละเลย

    Mental Health หรือสุขภาพจิต สำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย เพราะมีผลต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งนี้ ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องสุขภาพจิตน้อยกว่าผู้หญิง เพราะหากผู้ชายมีปัญหาสุขภาพจิตอาจรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอและไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งตรงกันข้ามกับการที่สังคมคาดหวังให้ผู้ชายแข็งแกร่ง หรือเป็นผู้นำ

    ทำไมผู้ชายถึงไม่ให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิต

    ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ผู้ชายบางคนอาจให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิตน้อยกว่าผู้หญิง เนื่องจากมองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนของความอ่อนแอ ซึ่งตรงข้ามกับความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้ผู้ชายแข็งแกร่ง มั่นคง หรือเป็นผู้นำ

    ดังนั้น แม้ว่าผู้ชายอาจมีปัญหาสุขภาพจิตแต่เลือกที่จะไม่พูดถึง หรืออาจละเลยที่จะสำรวจตัวเองว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่

    Mental Health Foundation ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ผู้ชายไม่ค่อยพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว และบางคนอาจเลือกใช้วิธีเสพยาเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำงานหนัก เพื่อแก้ปัญหาความเครียดหรืออาการซึมเศร้า

    ผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง เรื่องผู้ชายและความอับอายต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Men’s Health ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตในผู้ชายมักไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากผู้ชายไม่นิยมไปพบคุณหมอเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตเหมือนผู้หญิง เนื่องมาจากอิทธิพลของสังคมที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นสาเหตุให้อาการของโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลแย่ลงด้วย

    นอกจากนั้น ในรายงานชิ้นเดียวกันยังระบุว่า โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้ชายอเมริกัน โดยในแต่ละปี มีผู้ชายอเมริกันจำนวนประมาณ 6 ล้านคนได้รับผลกระทบจากโรคซึมเศร้า

    Mental Health ที่พบได้ในผู้ชาย

    ผู้ชายอาจมีปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ดังนี้

    • โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชแบบหนึ่ง มีสาเหตุมาจากการลดลงของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง ส่งผลให้รู้สึกเศร้าตลอดเวลา ต้องการอยู่คนเดียว ปวดหัวหรือปวดตามตัว ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน และรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
    • โรควิตกกังวล เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม การทำงานของสมองที่ผิดปกติ การเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด อาการของโรคนี้คือ ขี้ตระหนก หวาดกลัว จิตใจไม่สงบ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หายใจลำบาก และคิดถึงปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
    • โรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง กล่าวคือบางครั้งก็รู้สึกหดหู่ใจ เศร้า สิ้นหวัง หมดความสนใจกับกิจกรรมตรงหน้า ในขณะที่บางเวลากลับมีความสุข สนุก หรือร่าเริง ทั้งนี้ ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า โรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากสารเคมีในสมองเสียสมดุล
    • ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการเห็นหรือเผชิญเหตุการณ์รุนแรงหรือสะเทือนอารมณ์ เช่น เหตุฆาตกรรม การถูกข่มขืน การสูญเสียคนรัก สงคราม ภัยพิบัติ โดยอาการของภาวะนี้คือ นอนไม่หลับ ฝันร้าย รู้สึกหมดหวังต่ออนาคต อ่อนไหว ไม่สนใจสุขภาพหรือชีวิตตัวเอง ก้าวร้าว และหลีกเลี่ยงการเผชิญกับสถานที่ กิจกรรม หรือผู้คนที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์รุนแรงในอดีต

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    ผู้ชายควรไปพบจิตแพทย์ เมื่อพบสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตดังต่อไปนี้

    • โมโห หงุดหงิด หรือก้าวร้าวกว่าปกติ
    • เบื่ออาหาร
    • นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ
    • หมดแรง
    • ไม่มีสมาธิกับกิจกรรมตรงหน้า
    • รู้สึกเศร้า หมดหวัง
    • มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
    • อยากทำกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ขับรถเร็ว ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
    • ปวดหัว ปวดตามร่างกาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
    • มีความคิดหรือพฤติกรรมแปลกแยกที่ส่งผลเสียต่อการงาน ครอบครัว และการเข้าสังคม

    ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ชายมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง ดังนั้น เมื่อพบสัญญาณข้างต้น จึงควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา