backup og meta

อวัยวะเพศชายมีกลิ่นเหม็น เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 2 วันก่อน

    อวัยวะเพศชายมีกลิ่นเหม็น เกิดจากอะไร

    อวัยวะเพศชายมีกลิ่นเหม็น อาจเป็นอาการปกติเนื่องจากในการทำกิจกรรมต่างๆจะทำให้มีเหงื่อบวกกับแบคทีเรียซึ่งอาจให้เกิดกลิ่นได้ซึ่งเมื่อทำความสะอาดก็มักจะหายไป แต่ถ้าทำความสะอาดแล้วก็ยังมีกลิ่นอยู่ตลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การอักเสบที่ปลายอวัยวะเพศชาย ขี้เปียก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ ดังนั้น การทำความสะอาดอวัยวะเพศ จึงอาจทำให้อวัยวะเพศชายสะอาด และไม่มีกลิ่นเหม็น

    อวัยวะเพศชายมีกลิ่นเหม็น เกิดจากอะไร

    ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า อวัยวะเพศมีกลิ่นเหม็น มีสาเหตุมาจากสาเหตุอะไร แต่อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    ขี้เปียก (Smegma)

    หากอวัยวะเพศชายไม่มีการทำความสะอาดที่มากพอ ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดขี้เปียกได้ โดยขี้เปียก คือ สารหล่อลื่นธรรมชาติ ที่ช่วยให้อวัยวะเพศมีความชุ่มชื้น มักพบได้ที่ปลายอวัยวะเพศ หรือบริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย หากหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายมีขี้เปียกมากขึ้น ก็อาจทำให้อวัยวะเพศเพศชายมีกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย

    การอักเสบที่ปลายอวัยวะเพศชาย (Balanitis)

    การอักเสบที่ปลายอวัยวะเพศชาย อาจเกิดจากการทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่เพียงพอจนเกิดเป็นความสกปรก หมักหมม ทำให้มีขี้เปียก จนกระทั่งเป็นแหล่งของเชื้อแบคทีเรีย และทำให้อวัยวะเพศมีการติดเชื้อ นอกจากการอักเสบจากการติดเชื้อแล้ว การอักเสบที่ปลายอวัยวะเพศชายยังอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน การระคายเคืองต่อผิวหนังที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย การใช้ถุงยาง ซึ่งอวัยวะเพศที่มีการอักเสบ จะมีลักษณะบวมและแดง

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอาจทำให้อวัยวะเพศมีกลิ่นเหม็น ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจมีดังนี้

    • หนองใน อาจทำให้ปลายอวัยวะเพศชายมีสีเหลือง สีขาว หรือสีเขียว รู้สึกเจ็บปวด และแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ รวมถึงยังทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
    • หนองในเทียม จะทำให้มีคราบหรือน้ำสีขาวขุ่นไหลออกมาเมื่อมีการปัสสาวะ มีอาการเจ็บหรือปวดขณะปัสสาวะ รวมถึงอาจส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดที่อัณฑะ

    การติดเชื้อรา

    กลิ่นเหม็นที่อวัยวะเพศชาย อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราที่บริเวณปลายอวัยวะเพศ เพราะทำความสะอาดไม่เพียงพอ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีการติดเชื้อราอยู่แล้ว เมื่อมีเชื้อราสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ก็อาจส่งผลให้อวัยวะเพศมีกลิ่น รวมถึงมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

    • คัน และระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
    • ปวดแสบปวดร้อน
    • มีคราบเมือกสีขาวเป็นก้อน
    • ผิวที่อวัยวะเพศชายมีความผิดปกติ หรือมันวาวผิดปกติ

    กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

    อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรือไต เมื่อมีการติดเชื้อในบริเวณนี้อาจทำให้เวลาที่ปัสสาวะมีอาการปวด และแสบร้อน

    อวัยวะเพศชายมีกลิ่นเหม็น ควรดูแลอย่างไร

    การรักษาความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะจุดซ่อนเร้นอย่างอวัยวะเพศ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะความสกปรกที่อวัยวะเพศ อาจส่งผลให้มีอาการทางสุขภาพที่ร้ายแรงได้ นอกจากนี้ การทำความสะอาดอวัยวะเพศยังอาจช่วยลดกลิ่นเหม็นที่อาจทำให้เสียความมั่นใจได้ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะสำหรับผิวและจุดซ่อนเร้น เช็ดตัวและเช็ดอวัยวะเพศให้แห้งก่อนสวมใส่เสื้อผ้าเสมอ และสำหรับผู้ชายอาจดูแลอวัยวะเพศได้ ดังนี้

    • ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้งหลังการมีเพศสัมพันธ์
    • เลือกสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี และไม่ระคายเคืองผิว
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือหากมีการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง
    • หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางเพศ หากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือควรสวมถุงยางอนามัย
    • ทุกครั้งที่ทำความสะอาดอวัยวะเพศ ต้องไม่ลืมที่จะทำความสะอาดในส่วนของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศด้วย

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    การรักษาสุขอนามัยและความสะอาดของอวัยวะเพศ อาจช่วยลดโอกาสในการมีกลิ่นไม่พึงประสงค์บริเวณอวัยวะเพศได้ แต่เมื่อใดที่สังเกตได้ว่า อวัยวะเพศมีความผิดปกติเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอ

    • มีการสะสมของก้อน หรือคราบสีขาวอยู่รอบอวัยวะเพศซึ่งเมื่อทำความสะอาดแล้วไม่หายไป
    • มีผื่นขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือที่ก้น
    • รู้สึกปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ
    • มีอาการคัน
    • ระคายเคือง
    • อวัยวะเพศมีสีแดง และบวม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 2 วันก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา