ผู้ชายแต่ละคนมีจำนวนขนบนใบหน้าแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม อายุ และระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้บางคนไม่มีหนวดหรือเคราขึ้นเห็นชัดมากนัก หากผู้ชาย อยากมีเครา ขึ้นดกหนา สามารถแต่งทรงตามต้องการ อาจเริ่มต้นดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ล้างหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ งดสูบบุหรี่ และหาวิธีจัดการความเครียด เช่น ทำสมาธิ ทำกิจกรรมที่ชอบ ซึ่งเป็นการบำรุงผิวพรรณ เปิดรูขุมขน และกระตุ้นให้เส้นขนงอกขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
ปัจจัยใดบ้าง ที่ส่งผลต่อความหนาของเครา
การที่ผู้ชายมีเคราดกหนาหรือบางแตกต่างกันนั้นสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม ปกติแล้ว ผู้ชายที่เคราดกหนา มักมีพ่อ ปู่ หรือตาที่เคราดกหนาเช่นกัน
- อายุ เคราของผู้ชายจะหนาขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น โดยผู้ชายจะเริ่มมีเคราตอนอายุ 13-16 ปี และจำนวนขนบนใบหน้าผู้ชายจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุประมาณ 30 ปี
- เชื้อชาติ ผู้ชายที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ฝรั่งเศส กรีซ สเปน ไซปรัส มักมีหนวดเคราดกหนากว่าผู้ชายที่อาศัยอยู่ในทวีปอื่น ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเรื่องความท้าทายในการโกนเคราและขนบนใบหน้า เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Cosmetic Science ปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า ผู้ชายชาวจีนมีขนบนใบหน้าน้อยกว่าผู้ชายชาวตะวันตก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ชายชาวจีนมักมีขนหรือหนวดขึ้นบริเวณริมฝีปากมากกว่า ในขณะที่ผู้ชายชาวตะวันตกมักมีขนหรือเคราขึ้นบริเวณคาง แก้ม และลำคอมากกว่า
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ส่งผลให้รากผมถูกทำลาย และรูขุมขนเล็กลงจนเส้นผมไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ ทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และบางกรณีอาจส่งผลให้ขนบนใบหน้าหรือขนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหลุดร่วงง่ายและไม่งอกขึ้นมาใหม่ด้วย
- ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่ผลิตจากอัณฑะและจะเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนอีกชนิดที่เรียกว่า ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการเติบโตของเส้นขนบนใบหน้า หากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง จะส่งผลให้ขนไม่งอกหรืองอกช้า จึงอาจทำให้ไม่มีหนวดหรือเครา หรือขึ้นเป็นเพียงไรจาง ๆ
อยากมีเครา ควรดูแลตัวเองอย่างไร
ผู้ชายที่ อยากมีเครา ควรดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงตามคำแนะนำต่อไปนี้
- จัดการความเครียด ด้วยการทำสมาธิ เล่นโยคะ ออกกำลังกาย หรือทำงานอดิเรก เพราะเมื่อมีความเครียด ร่างกายมักหลั่งฮอร์โมนความเครียดหรือคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมาส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนลดลง และมีผลต่อลักษณะความเป็นชายและทำให้เส้นขนงอกน้อยลงหรือไม่งอกเลย
- นอนหลับให้เพียงพอ หรือประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน เพราะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะหลั่งออกมาระหว่างนอนหลับ หากนอนไม่พอหรือนอนหลับไม่สนิทจะส่งผลให้เส้นขนบนใบหน้างอกขึ้นช้าหรืออาจงอกน้อยกว่าปกติ
- ทำความสะอาดผิวหน้าสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกบนใบหน้าที่อาจอุดตันรูขุมขน เพราะหากรูขุมขนอุดตัน จะทำให้เกิดขนคุดหรือขนไม่งอกออกมาจากผิวหนัง อย่างไรก็ตาม การโกนหนวดหรือเคราบ่อยครั้งไม่ได้ทำให้หนวดหรือเคราขึ้นใหม่หนาขึ้น และไม่ได้ทำให้เครายาวเร็วขึ้น ตามปกติแล้ว เคราจะยาวขึ้นเฉลี่ยเดือนละครึ่งนิ้ว
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบ HIIT (High-Intensity Interval Training) หรือการออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ สลับกับการออกกำลังกายเบา ๆ ภายในเวลา 10-30 นาที มีส่วนทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลให้เครางอกขึ้นได้
- เลิกสูบบุหรี่ ผู้ชายที่ อยากมีเครา ควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นั้นส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และอาจไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงใบหน้าและรูขุมขนได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้เคราไม่งอกหรืองอกช้า รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุให้ขนบนใบหน้าร่วงมากกว่าปกติ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณสมบัติบำรุงรากผมและเส้นผมอย่างโปรตีน สังกะสี วิตามินบีหรือไบโอติน (Biotin) ซึ่งมักพบในนม ถั่ว ไข่ อกไก่ อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เส้นขนหรือหนวดเครายาวขึ้นได้