backup og meta

อัณฑะ หน้าที่ และโรคที่ควรระวัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    อัณฑะ หน้าที่ และโรคที่ควรระวัง

    อัณฑะ หน้าที่ คือ ผลิตตัวอสุจิและนำส่งไปยังหลอดเก็บอสุจิ เพื่อรอการปล่อยไปผสมกับไข่ของผู้หญิงเมื่อถึงจุดสุดยอด นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีบทบาทสำคัญต่อการแสดงลักษณะความเป็นชาย และความต้องการทางเพศ ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการดูแลอัณฑะอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อัณฑะอักเสบ อัณฑะบิดตัว โรคมะเร็งอัณฑะ

    อัณฑะ หน้าที่ คืออะไร

    อัณฑะ คือ อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายที่มีลักษณะเป็นรูปไข่ มี 2 ข้าง มีถุงอัณฑะล้อมรอบอัณฑะ อยู่ภายนอกร่างกายบริเวณอุ้งเชิงกรานใต้องคชาต โดยอัณฑะมีหน้าที่ผลิตตัวอสุจิและเก็บรักษาอสุจิก่อนจะถูกนำส่งไปยังหลอดเก็บอสุจิ เพื่อรอการปล่อยไปผสมกับไข่ของผู้หญิงเมื่อถึงจุดสุดยอด และนำไปสู่การตั้งครรภ์ อีกทั้งยังช่วยผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ภาวะเจริญพันธุ์ สร้างกล้ามเนื้อและมวลกระดูก และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและอวัยวะส่วนต่าง ๆ

    ปัญหาเกี่ยวกับอัณฑะที่ควรระวัง

    ปัญหาเกี่ยวกับอัณฑะที่ควรระวัง มีดังนี้

    • อัณฑะอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เริ่ม ซิฟิลิส หูด และโรคคางทูม หรืออาจเกิดจากท่อเก็บอสุจิอักเสบ  โดยมีอาการคือปวดอัณฑะ ปวดบริเวณขาหนีบ อัณฑะบวม มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกไม่สบายตัว
    • อัณฑะบิดตัว (Testicular torsion) ปกติแล้วอัณฑะจะห้อยอยู่ในแนวดิ่งใต้องคชาต แต่เมื่อท่ออสุจิที่ยึดติดกับอัณฑะและบริเวณหน้าท้องเกิดการบิดตัว อาจส่งผลให้อัณฑะแกว่งไปมาได้ง่ายเมื่อเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา และอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดอัณฑะขณะปัสสาวะ ปวดท้องน้อย และถุงอัณฑะบวมแดง หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษา จะทำให้อัณฑะขาดเลือดและติดเชื้อรุนแรงได้
    • หลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicocele) ที่ทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงอัณฑะได้ ส่งผลให้มีอาการปวดอัณฑะเมื่อยืนหรือเคลื่อนไหว มีขนาดอัณฑะแต่ละข้างไม่เท่ากัน อัณฑะบวม และอาจสัมผัสได้ถึงเส้นเลือดขอดที่มีความหนานูนออกมาจากถุงอัณฑะ
    • ภาวะถุงน้ำในอัณฑะ (Hydrocele) มีสาเหตุมาจากการสะสมของเหลวภายในอัณฑะ ทำให้เกิดถุงน้ำใสในบริเวณอัณฑะ มักเกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด เนื่องจากถุงอัณฑะอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ของเหลวบริเวณช่องท้องไหลลงเข้าไปสะสมในถุงอัณฑะ ส่งผลให้อัณฑะบวมแต่อาจไม่มีอาการเจ็บปวด สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะถุงน้ำในอัณฑะอาจรู้สึกหนักอัณฑะ และไม่สบายตัว หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจส่งผลให้อัณฑะอักเสบและติดเชื้อได้
    • โรคมะเร็งอัณฑะ อาจเกิดจากเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้เกิดก้อนเนื้องอกในอัณฑะ ซึ่งอาจลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้ โดยอาจสังเกตได้จากสัญญาณเตือนต่าง ๆ เช่น รู้สึกหนักในถุงอัณฑะ อัณฑะขยายตัว ปวดอัณฑะ มีก้อนเนื้อบริเวณขาหนีบ หากสังเกตพบอาการเหล่านี้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที

    การดูแลให้อัณฑะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    การดูแลให้อัณฑะมีสุขภาพดีและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจทำได้ดังนี้

    • คอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอัณฑะ เช่น อาการปวด อัณฑะบวม รู้สึกหนักอัณฑะหรืออัณฑะแกว่งไปมามากเกินไปเมื่อเคลื่อนไหวและลุกขึ้นยืน และควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • ทำความสะอาดอวัยวะเพศและซับน้ำให้แห้งสนิท โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์และหลังการขับถ่าย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของอัณฑะ
    • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสคางทูม เพื่อป้องกันอัณฑะอักเสบและช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งอัณฑะ
    • หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงชั้นในหรือกางเกงที่รัดรูป เพราะอาจรัดอัณฑะแน่นที่ส่งผลให้ปวดอัณฑะ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดการอับชื้น ระบายอากาศไม่ดี และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืช ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ จนอาจนำไปสู่โรคมะเร็งอัณฑะรวมถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้
    • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา