backup og meta

Stereotype คือ อะไร มีผลกระทบต่อผู้ชายอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/10/2022

    Stereotype คือ อะไร มีผลกระทบต่อผู้ชายอย่างไร

    Stereotype คือ การเหมารวมลักษณะของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม โดยมักสัมพันธ์กับลักษณะหรือบทบาทของผู้ชายและผู้หญิง ทั้งนี้ การเหมารวมเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ผู้ชายมีสุขภาพจิตย่ำแย่ เพราะค่านิยมและการเหมารวมว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามอ่อนแอที่ส่งผลให้ผู้ชายไม่ค่อยกล้าเล่าถึงปัญหาและความรู้สึกต่าง ๆ ให้คนรอบข้างฟังจนสะสมเป็นความกดดัน ความเครียด ความกังวลใจ ปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต อย่างโรคซึมเศร้า หรือไม่ยอมไปพบคุณหมอเมื่อพบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิต ยิ่งทำให้สุขภาพจิตของผู้ชายแย่ลงกว่าเดิม หรือมีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงขึ้น

    Stereotype คือ อะไร

    Stereotype หมายถึง การเหมารวมว่าคนกลุ่มหนึ่งต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่คนในกลุ่มนั้นอาจไม่ได้มีลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกันทุกคน

    ปกติแล้ว การเหมารวมจะสัมพันธ์กับคุณสมบัติของผู้คนในสังคม และบ่อยครั้งถูกโยงเข้ากับบทบาทของเพศชายและเพศหญิงตามความคาดหวังของสังคมหรือคนหมู่มาก

    โดยมีสื่อต่าง ๆ เช่น ข่าว ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ โซเชี่ยลมีเดีย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเหมารวมต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับหรือมีอิทธิพลต่อการสร้างการเหมารวม อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น

    สำหรับ การเหมารวมในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับเพศชายและเพศหญิง มีดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • เด็กผู้ชายชอบเล่นหุ่นยนต์ ผู้หญิงชอบเล่นตุ๊กตา
    • เด็กผู้ชายควรใส่เสื้อผ้าสีฟ้า เด็กผู้หญิงควรใช้เสื้อผ้าสีชมพู
    • ผู้ชายต้องใส่กางเกง ผู้หญิงต้องสวมกระโปรง
    • ผู้ชายต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ และพึ่งพาได้
    • ผู้ชายชอบใช้เหตุผล ผู้หญิงชอบใช้อารมณ์
    • ผู้ชายมักก้าวร้าว ชอบความรุนแรง หรือกล้าแสดงออก
    • ผู้หญิงมักขี้อาย เรียบร้อย ไม่กล้าแสดงออก
    • ผู้หญิงต้องมีรูปร่างผอม ผิวขาว จึงจะเป็นที่ปรารถนาของผู้ชาย
    • ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย
    • งานบ้านเป็นของผู้หญิง ไม่ใช่งานสำหรับผู้ชาย

    การเหมารวม มีผลกระทบต่อผู้ชายอย่างไร

    แม้ปัจจุบันนี้ การเหมารวมเกี่ยวกับเพศชายและเพศหญิงอาจลดลง ผู้คนเริ่มเข้าใจความเป็นปัจเจกของแต่ละคนว่ามีความแตกต่างกัน ไม่อาจเหมารวมคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่ามีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แต่การเหมราวมก็ยังคงมีบทบาทต่อการปฏิบัติตัวของผู้ชายในสังคม และตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัด คือหากผู้ชายต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ผู้ชายอาจต้องมีบุคลิกลักษณะตามที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง เช่น ต้องเข้มแข็ง กล้าเสี่ยง เป็นผู้นำ ทำงานนอกบ้าน ช่ำชองเรื่องเพศ

    นอกจากนี้ การเหมารวมเกี่ยวกับเพศชายอาจมีผลให้ผู้ชายมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะแนวคิดที่เหมารวมว่าผู้ชายต้องเข้มแข็งหรือห้ามแสดงความอ่อนแอ เพราะการเหมารวมดังกล่าวทำให้ผู้ชายเก็บกดความรู้สึกของตนเองไว้ ไม่ค่อยกล้าพูดหรือระบายปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองกับคนรอบข้าง ซึ่งส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตแย่ลงกว่าเดิม

    ผลการศึกษาหนึ่ง เรื่องผู้ชายและความอับอายต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตเผยแพร่ในวารสาร American Journal of Men’s Health ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า อิทธิพลของแนวคิดชายเป็นใหญ่ในสังคม ส่งผลให้ผู้ชายไปพบจิตแพทย์น้อยกว่าผู้หญิง และทำให้ปัญสุขภาพจิตในผู้ชายไม่ได้รับการดูแลรักษา

    ยิ่งกว่านั้น ผลการศึกษาเดียวกันยังระบุว่าา การยึดมั่นในแนวคิดชายเป็นใหญ่ อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ชายมีปัญหาต่อไปนี้

    • โรคซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลที่แย่ลง
    • ความเสี่ยงเป็นโรคทางจิตเวชที่มากขึ้น
    • การใช้สารเสพติด
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การใช้ความรุนแรง
    • ความสัมพันธ์กับคนรักหรือคนรอบข้างไม่ราบรื่น
    • โรคเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน
    • รู้สึกแปลกแยกและต้องการแยกตัวออกจากสังคม
    • มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย

    สำหรับในประเทศไทย รายงานอัตราการฆ่าตัวตาย (อัตราต่อแสนประชากร) ปี พ.ศ. 2540-2563 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าเพศหญิง ยกตัวอย่างในปี พ.ศ. 2563

    • อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในเพศชายเฉลี่ยอยู่ที่ 12.27 ราย
    • อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในเพศหญิงเฉลี่ยอยู่ที่ 2.68 ราย

    การเหมารวม เกี่ยวกับเพศชายที่ส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง

    หนึ่งในการเหมารวมเกี่ยวกับเพศชายที่ส่งผลเสียต่อตนเองและรอบข้างคือ แนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่ หากผู้ชายยึดถือแนวคิดชายเป็นใหญ่อย่างสุดโต่ง อาจทำให้มีภาวะความเป็นชายเป็นพิษ หรือ Toxic Masculinity เนื่องจากผู้ที่มีภาวะนี้มักเป็นคนก้าวร้าว ชอบควบคุมผู้อื่น รักการแข่งขัน ไม่ชอบแสดงอารมณ์ ไม่เห็นใจผู้อื่น เหยียดเพศ และมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง

    สำหรับพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากภาวะความเป็นชายเป็นพิษ ได้แก่

    • การทำร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้ชายที่ประพฤติตัวไม่สมชาย
    • การสอนลูกหลานผู้ชายให้อดทนหรือห้ามร้องไห้
    • การดูถูกหรือเรียกผู้หญิงที่ไม่ประพฤติตนตาม Stereotype ด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือไม่เหมาะสม
    • การบังคับคู่นอนหรือคนรักให้มีพฤติกรรมหรือแต่งตัวตามที่ตัวเองต้องการ
    • การใช้ความรุนแรงกับบุคคลข้ามเพศหรือทรานส์เจนเดอร์
    • การไม่กล้าแสดงความอ่อนแอต่อหน้าผู้อื่น
    • การมีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อสนับสนุนความเป็นชาย เช่น สูบบุหรี่จัด เสพยาเสพติด ขับรถเร็วเกินกำหนด เล่นการพนัน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก

    จะทำอย่างไร เพื่อให้ผู้ชายก้าวข้าม Stereotype เกี่ยวกับเพศชายและหญิงในสังคม

    การเหมารวมในสังคมเกี่ยวกับผู้ชายและผู้หญิง อาจรับมือหรือก้าวข้ามได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ขอความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา โดยไม่คิดว่าทำให้ตัวเองอ่อนแอ
  • ช่วยทำงานบ้าน โดยไม่มองว่าเป็นงานของผู้หญิงเท่านั้น
  • เล่าความไม่สบายใจหรือปัญหาสุขภาพจิตให้คนรอบข้างหรือจิตแพทย์ฟัง
  • แสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเหยียดเพศ
  • ลองทำสิ่งที่อยากทำ โดยไม่สนว่าเหมาะกับผู้ชายหรือไม่
  • กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนรอบข้างปฏิบัติตาม เพื่อลดแรงกดดันจากการถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามการเหมารวมในหมู่คนใกล้ตัว
  • สำหรับผู้ปกครอง อาจเลี้ยงลูกเพื่อให้ก้าวข้ามกรอบของการเหมารวมเกี่ยวกับเรื่องเพศชายและหญิง โดยอาจลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ให้ลูกเล่นของเล่นที่ลูกชอบ หรือให้เลือกสีเสื้อผ้าโดยไม่จำกัดว่าเป็นของเด็กผู้ชายหรือผู้หญิง
    • ให้ลูกทุกคนช่วยทำงานบ้านอย่างเท่าเทียมและหลากหลาย
    • ทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาหลาย ๆ อย่างร่วมกับลูก โดยไม่จำกัดกรอบความคิดว่าเป็นกิจกรรมของเพศใดเพศหนึ่ง
    • พูดคุยถึงความชอบของลูกแต่ละคนอย่างอิสระ ไม่แบ่งแยกโดยใช้เพศเป็นตัวกำหนด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา