backup og meta

สมาธิสั้นในผู้ใหญ่ อาจแย่ลงได้เพราะปัจจัยเหล่านี้

สมาธิสั้นในผู้ใหญ่ อาจแย่ลงได้เพราะปัจจัยเหล่านี้

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD) เกิดจากสมองส่วนหน้าทำงานบกพร่อง โดยเฉพาะบริเวณที่ควบคุมเรื่องสมาธิจดจ่อ การเคลื่อนไหวร่างกาย การตัดสินใจและการยับยั้งชั่งใจ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า โรคสมาธิสั้นนี้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เป็นโรคสมาธิสั้นได้ แถมวัยผู้ใหญ่ยังมีสิ่งกระตุ้นให้อาการของโรคสมาธิสั้นกำเริบได้มากกว่าวัยเด็กด้วย ว่าแต่ปัจจัยกระตุ้นอาการของโรค สมาธิสั้นในผู้ใหญ่ จะมีอะไรบ้าง วันนี้ Hello คุณ เราลองไปดูกันเลย

ปัจจัยกระตุ้นอาการ สมาธิสั้นในผู้ใหญ่

การกินอาหารขยะมากไป

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า สารปรุงแต่งอาหาร เช่น สีผสมอาหารสามารถทำให้อาการสมาธิสั้นในเด็กแย่ลงได้ ซึ่งสารปรุงแต่งเหล่านี้นั้นพบมากในอาหารขยะ เช่น น้ำอัดลม ลูกอม ขนมหวาน และถึงแม้งานวิจัยจะยังไม่ยืนยันว่า อาหารขยะจะส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นด้วยหรือไม่ แต่ก็แนะนำให้คุณลองสังเกตอาการของตัวเองดู หากกินอาหารขยะแล้วอาการของโรคสมาธิสั้นกำเริบ หรือแย่ลง ก็ควรลดหรืองดอาหารขยะดีกว่า

การอดมื้อเช้า

อาหารเช้าช่วยให้ร่างกาย จิตใจ และสมองของเรามีพลังงาน พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะต้องพบเจอได้ ทั้งยังช่วยให้คุณมีสมาธิและคิดอะไรได้ดีขึ้นด้วย ฉะนั้นต่อให้คุณไม่รู้สึกหิว ก็ควรหาอะไรรองท้องสักหน่อย โดยเน้นเป็นอาหารที่ให้พลังงานที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ไข่ต้ม โยเกิร์ต

การไม่ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายหรือการขยับร่างกายเป็นประจำ จะช่วยให้สมองของคุณไบรท์ ทำงานได้ดี ช่วยพัฒนาความจำ ทั้งยังช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจ มีสมาธิจดจ่อ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อสมองได้

การอดหลับอดนอน

คนที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักมีปัญหานอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอบ่อย ๆ ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดจากยาที่ใช้ หรือโรคอื่น ๆ ที่มักมาพร้อมโรคสมาธิสั้น เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า การอดหลับอดนอนนอกจากจะทำให้คนเป็นโรคสมาธิสั้นเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรงแล้ว ยังทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นแย่ลงด้วย ทางที่ดี หากคุณมีปัญหาในการนอนหลับเรื้อรัง ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีแก้ไขโดยเร็วที่สุด

การเอาแต่จ้องหน้าจอ

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือแกดเจ็ตต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้นก็จริง แต่หากใช้มากไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ เพราะผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การจ้องหน้าจอมากเกินไป และการติดอินเทอร์เน็ตสามารถทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นรุนแรงขึ้นได้

ฉะนั้น คุณจึงควรงดจ้องหน้าจอ ทั้งการดูทีวี ใช้มือถือ ใช้แท็บเล็ต หรือใช้คอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมนอนหลับพักผ่อน จะได้ไม่มีปัญหานอนไม่พอด้วย

ความเครียด

ความเครียดกับโรคสมาธิสั้นนั้นเหมือนเป็นของคู่กัน และส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เพราะโรคสมาธิสั้นสามารถทำให้คุณรู้สึกเครียดจัดได้ และเมื่อคุณเครียด อาการของโรคสมาธิสั้นก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก โดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่า คนที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นเสี่ยงมีปัญหาเครียดจัดได้ง่ายกว่าคนอื่น เพราะแค่เสียงดังหรือแสงสว่าง ก็สามารถกระตุ้นให้คุณรู้สึกเครียดได้แล้ว

การรับมือกับความเครียดให้ได้ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้น เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคสมาธิสั้นแย่ลงแล้ว ยังดีต่อสุขภาพโดยรวมของคุณด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

11 Things That Make Adult ADHD Worse. https://www.webmd.com/add-adhd/ss/slideshow-what-makes-adhd-worse. Accessed July 3, 2020

7 ADHD Triggers You Never Suspected. https://adhd.newlifeoutlook.com/adhd-triggers/. Accessed July 3, 2020

โรคสมาธิสั้น. https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09042014-1854. Accessed July 3, 2020

What is ADHD?. https://www.cdc.gov/ncbddd/adhd/facts.html. Accessed July 3, 2020

Identifying Your ADHD Triggers. https://www.healthline.com/health/adhd/adhd-trigger-symptoms#1. Accessed July 3, 2020

What can trigger ADHD?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/325867. Accessed July 3, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/07/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

นั่งสมาธิ มีส่วนช่วยทำให้ สุขภาพหัวใจ ของเราดีขึ้นได้อย่างไร

วิธี ออกกำลังกายสมอง เจ๋งๆ ที่ช่วยให้สมองทำงานดีขึ้น


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา