backup og meta

น้ำหนักสมอง ของคนเราหนักเท่าไหร่? มันคือก้อนไขมันจริงหรือ?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/12/2020

    น้ำหนักสมอง ของคนเราหนักเท่าไหร่? มันคือก้อนไขมันจริงหรือ?

    น้ำหนักตัวของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับน้ำหนักของมวลต่าง ๆ ภายในร่างกาย ทั้งมวลกล้ามเนื้อ และมวลของไขมัน แต่เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ศีรษะของเราที่ภายในมีสิ่งที่เราเรียกว่าสมองนั้น มีน้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักสมอง จะหนักเท่ากับน้ำหนักตัวหรือไม่ มาหาคำตอบได้จากบทความนี้ของ Hello คุณหมอ กันเลย

    ในสมองของคนเรามีอะไรบ้าง

    สมอง ศูนย์กลางการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุดอีกระบบหนึ่ง เป็นองค์ประกอบที่คอยดูแลและกำกับการทำงานของส่วนต่าง ๆ ทั้งการเคลื่อนไหว การหายใจ แม้แต่การเคี้ยวอาหารก็ยังเป็นระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลจากสมองเช่นกัน แต่เราเคยสงสัยไหมว่า สิ่งที่เรียกว่าสมองของเรานั้น ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? สมองของมนุษย์แบ่งออกเป็น3ส่วน ดังนี้

    สมองส่วนหน้า

    สมองส่วนหน้าประกอบไปด้วย

  • ซิรีบรัม ( cerebrum ) เป็นสมองส่วนที่อยู่หน้าสุด มีขนาดใหญ่มากที่สุด ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เชื่อมโยงเกี่ยวกับสติปัญญา และทำหน้าที่ในการควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงควบคุมในส่วนของระบบรับความรู้สึกด้วย
  • ออลแฟกทอรีบัลบ์ (olfactory bulb) เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกลิ่น หรือการดมกลิ่น
  • ไฮโพทาลามัส (hypothalamus) เป็นสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องของการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ระบบความดันเลือด ระบบการเต้นของหัวใจ รวมถึงระบบความต้องการต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ความต้องการทางเพศ
  • ทาลามัส (thalamus) เป็นส่วนสมองที่ดูแลเกี่ยวกับกระแสประสาทต่าง ๆ
  • สมองส่วนกลาง

    สมองส่วนกลางทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบของดวงตา การเคลื่อนไหวของดวงตา การเปิดปิดของม่านตาเวลาเจอแสง รวมถึงทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินด้วย

    สมองส่วนหลัง

    สมองส่วนหลังประกอบด้วย

  • ซีรีเบลลัม (cerebellum) เป็นสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทั้งการทรงตัว และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
  • เมดัลลาออบลองกาตา (medulla oblongata ) เป็นสมองส่วนที่อยู่ติดกับไขสันหลัง ทำหน้าที่ดูแลเรื่องของระบบหัวใจ การเต้นของหัวใจ ระบบเลือด การหาว การสะอึก การจาม การอาเจียน
  • พอนส์ (pons) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องของการหายใจ การเคี้ยวอาหาร ระบบน้ำลาย ระบบการเคลื่อนไหวของใบหน้า
  • นอกจากนี้ในสมองยังมีกะโหลกศีรษะ ระบบเลือด หลอดเลือด ระบบน้ำเหลือง ระบบไขสันหลัง ไขมัน ออกซิเจน  และมีเซลล์ประสาทกว่า 86,000 ล้านเซลล์อยู่ภายในสมอง คอยกำกับดูแลและทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงการทำงานกับเซลล์ประสาทอื่น ๆ

    น้ำหนักสมอง เราหนักเท่าไหร่กันนะ

    ในสมองของคนเราประกอบไปด้วยระบบและเซลล์ต่าง ๆ มากมายขนาดนั้น แล้วแบบนี้ สมองของเราจะหนักเท่าไหร่กัน? คำตอบคือ น้ำหนักสมอง นั้นจะอยู่ที่ราว ๆ 3 ปอนด์ หรืออยู่ระหว่าง1,300-1,400กรัม หรือประมาณ 1.3-1.5 กิโลกรัม

    อย่างไรก็ตาม แม้น้ำหนักสมองของคนเราจะเฉลี่ยแล้วอยู่ในระดับที่เท่ากัน แต่ขนาดของสมองนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนมีขนาดสมองที่ใหญ่ แต่บางคนกลับมีขนาดสมองที่เล็ก ซึ่งขนาดของสมองยังบ่งบอกถึงสภาวะ และอาการของโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น ผู้ที่มีภาวะของโรคออทิสติกจะมีขนาดของสมองที่ใหญ่กว่าสมองของคนทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นความเชื่อที่ว่าคนที่มีขนาดศีรษะใหญ่หรือหัวโต จะฉลาดกว่าคนหัวเล็ก ก็ไม่ใช่ความจริงเสมอไปเช่นกัน เพราะความฉลาดไม่สามารถที่จะใช้มาตรวัดได้  รวมถึงระดับของสติปัญญาในสมองนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับขนาดของสมอง

    สมองคือก้อนไขมันจริงหรือ?

    สมองของมนุษย์ รวมถึงสมองของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นั้น มีความซับซ้อนมาก ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบ และระบบการทำงาน สำหรับสมองของมนุษย์ที่ขนาดเต็มที่จะมีน้ำหนักอยู่ราว ๆ 3 ปอนด์นั้นพบว่า กว่า85%ของน้ำหนักสมอง มาจากสมองส่วนที่เรียกว่าซิรีบรัม ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีอยู่ด้วยกันสองซีก อย่างที่เรารู้จักกันในชื่อของสมองซีกซ้าย และสมองซีกขวา

    นอกจากนี้ สมองยังประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท และหลอดเลือดต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นสมองยังมีน้ำเป็นองค์ประกอบสูงถึง75เปอร์เซนต์และมีไขมันเป็นองค์ประกอบมากถึง 60 เปอร์เซนต์ ดังนั้น หากจะพูดว่าสมองคือก้อนไขมันอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพียงแต่สมองมีโครงสร้างบางส่วนที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบด้วยเท่านั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา