เวลาต้องจ้องหน้าจอนานๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอมือถือ หรือหน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ อาจทำให้คุณรู้สึกปวดตา หรือมีอาการตาล้าได้ เราจึงมี วิธีถนอมสายตา ที่ช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าการจากใช้หน้าจอมาฝาก เพื่อให้สุขภาพตาของคุณแข็งแรง สดใส และใช้หน้าจอได้อย่างไร้ปัญหา เพื่อถนอมสุขภาพของดวงตาให้อยู่กับคุณไปอย่างยาวนาน
จอคอมพิวเตอร์ส่งผลกระทบต่อสายตายังไง
โรคตาจากจอคอมพิวเตอร์ (Computer Vision Syndrome หรือ CVS) เป็นความปกติที่มีสาเหตุคล้ายคลึงกับโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) นั่นคือ เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเคลื่อนไหวซ้ำไปซ้ำมา ส่งผลให้อวัยวะบริเวณนั้นผิดปกติ ซึ่งหากฝืนใช้อวัยวะนั้นต่อไปโดยไม่รักษา อาจส่งผลเสียร้ายแรงได้
เวลาที่เราทำงานอยู่ตรงหน้าจอคอมพิวเตอร์ เราอาจต้องก้มลงไปอ่านเอกสาร แล้วเงยหน้าขึ้นมองหน้าจอเพื่อพิมพ์งาน เลนส์ตาของเราจึงต้องปรับโฟกัสอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนบนเรตินาหรือจอประสาทตา จากนั้นเซลล์บนจอประสาทตาจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมอง ทำให้เรามองเห็นภาพต่างๆ ซึ่งกระบวนการโฟกัสภาพของเลนส์ตานี้ จะต้องใช้กล้ามเนื้อรอบดวงตาอย่างมาก ประกอบกับหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นมีแสงจ้า แสงวูบวาบ หรือแสงสีที่ตัดกันมากกว่าหนังสือหรือแผ่นกระดาษ จึงทำให้ดวงตาของเราล้าได้ง่าย
การใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือดูโทรทัศน์จะยิ่งลำบากขึ้น เมื่อคุณมีอายุมากขึ้นและเลนส์ตามีความยืดหยุ่นน้อยลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ความสามารถในการปรับโฟกัสวัตถุต่างๆ ทั้งที่อยู่ใกล้และไกลจะเริ่มเสื่อมถอยลง ซึ่งจักษุแพทย์จะเรียกอาการแบบนี้ว่า “สายตายาว“
อาการของการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน
ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใช้คอมพิวเตอร์จะส่งผลเสียต่อดวงตาในระยะยาว แต่การใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยตาหรือไม่สบายตาได้ ซึ่งอาการจากการใช้หน้าจอเป็นเวลานาน ได้แก่
- เห็นภาพพร่ามัว
- เห็นภาพซ้อน
- ดวงตาแห้งและตาแดง
- ปวดศีรษะ
- มีอาการระคายเคืองตา
- ปวดหลังและปวดคอ
หากคุณไม่จัดการกับอาการที่เกิดขึ้น อาการอาจรุนแรงและส่งผลกระทบกับอวัยวะส่วนอื่นนอกเหนือจากดวงตา ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติงานด้วย
วิธีถนอมสายตา เมื่อต้องใช้หน้าจอ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม อาจช่วยป้องกันและเยียวยาปัญหาดวงตาที่เกิดขึ้นได้ และนี่คือวิธีถนอมสายตาที่คุณสามารถทำได้ง่ายๆ
- อย่าลืมกะพริบตา
เวลาที่เรามัวแต่จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ เรามักจะลืมกะพริบตา หรือกะพริบตาน้อยลงกว่าปกติ อัตราการกะพริบตาจะเปลี่ยนแปลงจากนาทีละ 15 ครั้ง เป็นนาทีละ 5 ถึง 7 ครั้งเท่านั้น ทำให้ดวงตาแห้งและรู้สึกแสบตาได้ ฉะนั้น คุณจึงควรกะพริบตาบ่อยๆ เพื่อช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น
- พักสายตาบ้าง
การใช้สายตาที่จะไม่กระทบกับสุขภาพดวงตา ก็คือ การใช้กฎ 20-20-20 คือ มองหน้าจอ 20 นาที พักสายตาจากหน้าจอเป็นเวลา 20 วินาที โดยมองวัตถุอื่นที่อยู่ไกลออกไป 20 ฟุต
ปรับระยะจอคอมพิวเตอร์
ท่านั่งที่เหมาะสมในการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ก็คือ ให้นั่งในตำแหน่งที่อยู่ห่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หนึ่งช่วงแขน และปรับหน้าจอให้อยู่ในต่ำกว่าระดับสายตาประมาณแปดนิ้ว และให้อยู่ห่างจากดวงตาประมาณ 20-28 นิ้ว วางคอมพิวเตอร์ในตำแหน่งที่ไม่มีแสงจ้าๆ ส่องจากหน้าต่าง หรือจากบริเวณเหนือศีรษะ
ข้อเสนอแนะคือ ไม่ควรยืดคอหรือเบิกตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หากต้องมองเอกสารสลับกับมองหน้าจอ ก็ควรวางเอกสารให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ อย่าวางเอกสารไว้ต่ำเกินไป จะได้ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ
ปรับขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น
วิธีแก้ไขอย่างรวดเร็วอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เพิ่มขนาดตัวอักษรที่แสดงบนหน้าจอให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เลนส์ตาของคุณโฟกัสได้ง่าย กล้ามเนื้อรอบดวงตาไม่ต้องทำงานหนักเกินไป
อย่าให้แสงหน้าจอสว่างเกินไป
ควรปรับแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พอดี จะส่งผลดีต่อดวงตามากกว่าการเปิดแสงหน้าจอให้สว่างจ้า การติดที่กรองแสงแบบไม่มีเงาสะท้อนก็ช่วยถนอมดวงตาได้เช่นกัน กฎข้อนี้สามารถนำไปใช้ได้กับหน้าจอทุกประเภท หากเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต อาจเลือกติดฟิล์มแบบช่วยกรองแสงก็ได้
เข้าพบจักษุแพทย์เป็นประจำ
คุณควรไปตรวจสายตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูว่าดวงตามีปัญหาอะไรหรือไม่ หากสายตาสั้นหรือยาว ควรได้ตัดแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์ที่ตรงกับค่าสายตาในปัจจุบัน
หากคุณรู้สึกว่าสุขภาพตามีปัญหาใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที และคุณสามารถให้แพทย์ช่วยตัดสินให้ได้ว่าคุณสามารถใช้แว่นสายตาตามปกติกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือต้องใช้แว่นชนิดพิเศษ
จักษุแพทย์อาจจะสั่งแว่นตาเลนส์เดี่ยวหรือเลนส์คู่ให้คุณใช้ หรือสั่งให้ใช้วัสดุเคลือบเลนส์ให้เป็นสีๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาแสงจ้าๆ จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือช่วยให้มองแสงหรือสีที่ตัดกันได้ง่ายขึ้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด