หากอยากมีสุขภาพแข็งแรง น้ำหนักตัว เป็นสิ่งที่เราควรรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การจะหาว่าน้ำหนักตัวของเราอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมหรือไม่นั้น ไม่ได้ดูจากตัวเลขบนตาชั่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูจากค่าที่เรียกว่า ดัชนีมวลกาย ซึ่งเป็นค่าที่คำนวณจากน้ำหนักตัวและส่วนสูง คนทุกเพศทุกวัย แต่สำหรับ ดัชนีมวลกาย ผู้สูงอายุ แล้ว เราอาจต้องพิจารณาในมุมที่แตกต่างออกไป
ดัชนีมวลกาย กับผู้สูงอายุ
ดัชนีมวลกาย (Body-mass index / BMI) คือ ค่าชี้วัดความสมดุลระหว่างน้ำหนักตัวและส่วนสูงของแต่ละบุคคลว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมหรือไม่ ถือเป็นค่ามาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนหรือผอมในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สำหรับคนไทย (คนเอเชีย) หากดัชนีมวลกายเท่ากับ 18.5-24.99 กิโลกรัม/ตารางเมตร ถือว่าปกติ มากกว่านี้ถือว่าน้ำหนักเกินเกณฑ์ ไปจนถึงเป็นโรคอ้วน
แต่จากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า ค่าดัชนีมวลกายที่ใช้กันอยู่ อาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกว่าผู้สูงอายุเท่าใดนัก มีผลการศึกษาในผู้สูงอายุวัย 70 ปีเป็นระยะเวลานาน 10 ปีชิ้นหนึ่งจากประเทศออสเตรเลียชี้ว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ เสียชีวิตช้ากว่าผู้เข้าร่วมที่มีค่าดัชนีปกติถึง 10 ปี ค่าดัชนีมวลกายในระดับที่เรียกว่าน้ำหนักเกินเกณฑ์สำหรับคนทั่วไป อาจเหมาะสมกับผู้สูงอายุ มากกว่าดัชนีมวลกายในระดับปกติ
เมื่อสูงอายุ…ผอมเกินไปไม่ใช่เรื่องดี
เมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เช่น ความเบื่ออาหาร ความเศร้า ปัญหาสุขภาพฟัน โรคภัยไข้เจ็บ การใช้ยา มวลกล้ามเนื้อที่ลดลง หรือที่เรียกว่า ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) มักส่งผลให้ผู้สูงอายุมีปัญหาน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ได้มากมาย ทั้งปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้อาการโรคที่เป็นอยู่แย่ลง และเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เสี่ยงกระดูกหักเมื่อหกล้ม และระบบภูมิคุ้มกันอาจอ่อนแอลงจนติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
เทคนิคเพิ่มน้ำหนักแบบดีต่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้น น้ำหนักตัวอาจลดลง ร่างกายอาจได้รับสารอาหารและวิตามินไม่เพียงพอ จนเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพนานาประการ การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ หรือเพิ่มน้ำหนักไม่ให้น้อยเกินไปแบบสุขภาพดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ เช่น ห้าหรือหกมื้อต่อวัน แทนการกินอาหารสามมื้อต่อวันตามปกติ เพื่อให้ร่างกายนำแคลอรีหรือพลังงานจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคไปใช้ได้เร็วขึ้น
- เลือกกินอาหารที่อุดมด้วยแคลอรีและสารอาหาร (Nutrient dense foods) เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป นมไขมันต่ำ ถั่วต่างๆ แทนการกินอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่มีสารอาหารน้อย (Calorie dense foods) เช่น ของทอด เครื่องดื่มอัดลม ขนมหวาน ซึ่งอุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียม น้ำตาล และคอเลสเตอรอล ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเน้นที่การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance exercise) เช่น การใช้ยางยืดบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน หรือออกกำลังกายด้วยการเดินที่ไม่ทำให้ข้อต่อบาดเจ็บ อีกทั้งการออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มความอยากอาหารได้อีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารลำพัง ควรกินอาหารพร้อมครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนบ้านเพื่อให้สนุกกับการกินมากขึ้น
- กินอาหารเสริม ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอหรือนักโภชนาการ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และแคลอรีตามที่ควรได้รับต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุก็ไม่ควรปล่อยให้อ้วนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มาพร้อมความอ้วน เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคเบาหวาน และหากผู้สูงอายุน้ำหนักตัวลงแบบฮวบฮาบโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่าปล่อยไว้ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]