backup og meta

วิธีบรรเทาอาการปวด จาก อาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งการผ่าตัด

วิธีบรรเทาอาการปวด จาก อาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งการผ่าตัด

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ นั้นเป็นภาวะที่ทำให้เราเกิดอาการมือไม้อ่อนแรง นิ้วกระตุก มือชา หรืออาจทำให้เรารู้สึกปวดเส้นประสาท จนไม่สามารถใช้งานมือข้างนั้นได้อย่างเต็มที่ วันนี้ Hello คุณหมอ เลยจะมาแนะนำวิธีดีๆ ในการ ลดอาการปวดจากอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ มาให้คุณผู้อ่านกันค่ะ

เทคนิคการ ลดอาการปวดจากอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

พักผ่อน

การพักผ่อน และงดเว้นการเคลื่อนไหวในบริเวณมือข้างที่มีอาการ เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่จะช่วยลดอาการปวดเส้นประสาท จากอาการเส้นประสาทกดทับที่มือได้ เพราะหากคุณยิ่งใช้มือข้างที่มีปัญหา ก็อาจจะยิ่งทำให้อาการอักเสบและบวมในบริเวณข้อมือนั้นยิ่งมีอาการรุนแรงขึ้นได้

หากคุณกลัวว่าตัวเองจะเผลอใช้ข้อมือที่มีอาการนั้น อาจใช้วิธีการพันผ้าพันแผลในข้อมือข้างที่มีอาการ เพื่อตรึงให้ข้อมืออยู่นิ่งได้มากขึ้น นอกจากนี้แพทย์ก็อาจจะใช้วิธีการใส่เฝือกที่ข้อมือ เพื่อช่วยตรึงข้อมือให้อยู่นิ่ง และลดโอกาสการเคลื่อนไหวของข้อมือได้มากยิ่งขึ้น

เปลี่ยนท่า

ปัญหาการกดทับของเส้นประสาทที่ข้อมือนั้น มักจะมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวข้อมือด้วยท่าเดิมซ้ำๆ หรือมาจากการวางมือทำงานในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น การวางมือขณะพิมพ์งาน วาดรูป หรือเล่นเปียโน การเคลื่อนไหวข้อมือในลักษณะเดิมซ้ำๆ นั้นจะทำให้เกิดความตึงเครียดต่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในบริเวณมือ และส่งผลให้เกิดการอักเสบ บวม และเส้นประสาทกดทับได้

ลองเปลี่ยนท่าทางการใช้ข้อมือดู โดยอาจจะเริ่มจากการพักการใช้มือ มายืดเส้นยืดสายเล็กน้อย ทุกๆ 30 นาที และพยายามจัดวางมือให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม เป็นธรรมชาติ ไม่ยกสูงหรือต่ำจนเกินไป หากคุณต้องพิมพ์งานหรือเขียนงานเป็นเวลานานๆ อาจลองปรับท่านั่งให้ถูกต้อง และหาอะไรนุ่มๆ มารองในบริเวณข้อมือ จะช่วยให้มืออยู่ในท่าที่เหมาะสม และช่วยให้อาการปวดลดน้อยลงได้

เลือกรับประทานอาหาร

การเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดจากอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือได้เช่นกัน โดยอาหารที่คุณควรเลือกรับประทานมีดังนี้

  • พริกหยวกแดง หนึ่งในปัญหาจากอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้น คืออาการอักเสบและอาการบวมที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือ การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อย่าง พริกหยวกแดง จะสามารถช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยลดอาการอักเสบและอาการบวมได้ ทำให้เรามีอาการปวดลดลงนั่นเอง
  • สับปะรด เอนไซม์โบรมีลีน (Bromelain) ที่สามารถพบได้ในสับปะรดนั้น สามารถช่วยต่อต้านการอักเสบ และช่วยลดอาการบวมลงได้
  • ปวยเล้ง ผักปวยเล้งนั้นอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 มีงานวิจัยที่พบว่า วิตามินบี 6 นั้นจะทำหน้าที่คล้ายกับยาชา ช่วยบรรเทาอาการปวด ที่เกิดขึ้นจากอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือได้
  • แซลมอน ปลาแซลมอนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งอาหารที่ขึ้นชื่อในเรื่องของสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะโอเมก้า 3 (Omega 3) ที่สามารถช่วยลดอาการอักเสบ และป้องกันไม่ให้อาการเส้นประสาทกดทับนั้นรุนแรงขึ้นได้

ใช้ยาแก้ปวด

หากอาการปวดนั้นรุนแรงมากจนทนไม่ไหว และไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีอื่น คุณอาจจะต้องรับประทานยาแก้ปวด เพื่อช่วยลดอาการปวดเหล่านั้น โดยสามารถรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

แต่ก่อนจะใช้ยาอะไร อย่าลืมปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนว่า คุณสามารถใช้ยาเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะยานั้นอาจจะทำปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ หรือไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของคุณก็ได้

สุดท้ายนี้ อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพของร่างกาย และคอยสังเกตดูสัญญาณและอาการของโรคให้ดี หากคุณพบว่า อาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ทำให้ไม่สามารถขยับได้ดังใจ หรือมีอาการปวดมากจนนอนไม่หลับ อย่าลืมไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจ และรักษาอย่างเหมาะสมต่อไปด้วยนะคะ

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

6 Best Foods for Carpal Tunnel Syndrome https://www.everydayhealth.com/news/best-foods-for-carpal-tunnel-syndrome/

10 natural and home remedies for carpal tunnel syndrome https://www.medicalnewstoday.com/articles/314772

5 Ways You Can Ease Carpal Tunnel Syndrome Pain Without Surgery https://health.clevelandclinic.org/5-ways-can-ease-carpel-tunnel-syndrome-pain-without-surgery/

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/09/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ เนื้องอกน้อยๆ ที่อาจเกิดได้เมื่อคุณอายุมากขึ้น

โรคกดทับเส้นประสาทในโพรงข้อมือ ภัยเงียบที่คนนอนดิ้นควรระวัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา