backup og meta

ลักษณะการไอ ของคุณเป็นแบบไหน ลองเช็คอาการไอ 5 รูปแบบต่อไปนี้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    ลักษณะการไอ ของคุณเป็นแบบไหน ลองเช็คอาการไอ 5 รูปแบบต่อไปนี้

    แน่นอนว่าทุกคนต้องเคยเกิดอาการไอ แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่าการไอแต่ละครั้งของคุณมีความแตกต่างกันอย่างไร มาทำความรู้จักกับ ลักษณะการไอ แต่ละชนิดที่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

    ชนิดการ ไอ แบ่งตามระยะเวลา

    หากแบ่งการไอตามระยะเวลา ลักษณะการไอ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

    ไอ ฉับพลัน

    • มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือการสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส และมลพิษทางอากาศ

    ไอ เรื้อรัง

    • มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง การรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่ม Angiotensin-Converting Enzyme Inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ วัณโรคปอด

    ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังบางรายอาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ

    อาการไอแบ่งตาม ลักษณะการไอ มีอะไรบ้าง

    มีงานวิจัยระบุว่า เสียงที่เกิดขึ้นขณะไอสามารถบ่งบอกภาวะของระบบทางเดินหายใจในขณะนั้นได้ และในบางกรณีก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคจากเสียงของการไอได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยการตรวจและทดสอบอื่นๆ ร่วมด้วย ลักษณะการไอประเภทต่างๆ มีดังนี้

    ไอแห้งหรือคันคอ (dry cough)

    • การไอ แบบนี้มักไม่มีเสมหะ สามารถเกิดได้กับทุกคน และมักเกิดเสียงคอกแคก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสิ่งที่ก่อการระคายเคือง เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ควัน หรืออาจเป็นเชื้อหวัด แต่หากมีอาการจามร่วมด้วยก็อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ หรือในบางกรณี ก็เป็นผลจากโรคหอบหืด ซึ่งมักมีอาการรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน โดยมักมีอาการแน่นหน้าอก หายใจถี่ และมีเสียงฟืดฟาดร่วมด้วย

    ไอมีเสมหะ (wet cough)

  • สาเหตุเกิดจากการอักเสบในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น สมองจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเมือกในลำคอหรือที่เรียกว่า เสมหะ มากขึ้น เมื่อเกิดการสะสมของเสมหะในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการไอเพื่อขับเอาเสมหะออกมา
  • ไอมีเสียงวู้ป (whooping cough)

    • หรือที่เรียกว่า โรคไอกรน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ โดยผู้ป่วยมักมีเสียงหวีดแหลมคล้ายเสียง “วู้” หรือ “วู้ป” ขณะไอ โดยมักไอติดต่อกันเป็นพักๆ และมักมีอาการอาเจียนหลังไอร่วมด้วย โดยทั่วไป หากมีอาการไอลักษณะนี้ติดต่อกันมากกว่า  2 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นสัญญาณบ่งชัดของโรคไอกรน

    ไอก้อง หรือ ไอคล้ายเสียงหมาเห่า (croup)

  • ไอ ลักษณะนี้มักเกิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในกล่องเสียงจนเกิดการอักเสบ นอกจากนี้ ยังมักมีไข้สูงและอาการหายใจลำบากร่วมด้วย
  • ไอแบบมีเสียงวี้ด (wheezing cough)

    • การไอลักษณะนี้มักได้ยินเสียงวี้ดของลมหายใจขณะ ไอ ซึ่งบ่งบอกถึงอาการอักเสบบริเวณปอด

    สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือการหมั่นสังเกตอาการไอที่เกิดขึ้นให้ดี หากเรารู้ว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณอะไร ก็จะทำให้เราเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา