backup og meta

เครียดลงกระเพาะ คืออะไรและเราจะรับมืออย่างไรให้ได้ผล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    เครียดลงกระเพาะ คืออะไรและเราจะรับมืออย่างไรให้ได้ผล

    ความเครียดสามารถส่งผลต่อร่างกายได้หลายอย่าง และหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยที่สุดก็คือ อาการเกี่ยวกับท้องไส้ของคุณ อย่างเช่น คลื่นไส้ ท้องอืด หรือปวดท้องบ่อยๆ อย่างที่ชอบเรียกกันว่า เครียดลงกระเพาะ จริงๆ แล้วอาการนี้เป็นอย่างไร และเราจะรับมือกับมันได้อย่างไร Hello คุณหมอมีคำตอบมาให้แล้ว

    เครียดลงกระเพาะ คืออะไร

    เครียดลงกระเพาะ (Nervous stomach) ไม่ถือเป็นอาการที่เป็นทางการหรือสามารถวินิจฉัยได้ และไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “โรค’ แพทย์บางคนอาจใช้ภาวะเครียดลงกระเพาะ เพื่ออธิบายอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ วิตกกังวล ท้องอืด หรือการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกรณีที่การตรวจวินิจฉัยไม่สามารถระบุอย่างเจาะจงได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด โดยเครียดลงกระเพาะ อาจมีอาการดังต่อไปนี้

    • รู้สึกแน่นท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดเกร็งท้อง
    • รู้สึกกระวนกระวาย หรือวิตกกังวล
    • ตัวสั่น หรือกล้ามเนื้อกระตุก
    • ท้องอืดบ่อย
    • ไม่สบายท้อง หรือคลื่นไส้
    • อาหารไม่ย่อย หรืออิ่มเร็วเวลากินอาหาร
    • ปัสสาวะหรืออุจจาระมากขึ้น

    เกิดจากสาเหตุใด

    อาการเครียดลงกระเพาะ โดยส่วนใหญ่ก็เกิดจากความเครียด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเนื่องจากสมองกับลำไส้จะเชื่อมต่อกันผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นประสาทที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยเส้นประสาทเวกัสจะส่งสัญญาณจากสมองไปที่ลำไส้ หรือจากลำไส้ไปยังสมอง ส่งผลให้กรดในกระเพาะหลั่งมากผิดปกติ กระเพาะลำไส้บีบตัวผิดปกติ จนเกิดอาการปวดมวนท้อง ความระคายเคืองที่ระบบย่อยอาหาร และเกิดความผิดปกติ

    บรรเทาอาการอย่างไร

    หลีกเลี่ยงคาเฟอีน โดยเฉพาะในกาแฟ

    คาเฟอีนในกาแฟสามารถทำให้อาการวิตกกังวลแย่ลง และกระตุ้นลำไส้ ดังนั้น ถ้าอาการเครียดลงกระเพาะยังไม่หายดี ควรเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีนอื่นๆ เช่น ชาเขียว ชาอู่หลง

    ใช้สมุนไพร

    สำหรับบางคน สมุนไพรบางชนิดสามารถบรรเทาอาการเครียดลงกระเพาะได้ ถ้าคุณมีอาการคลื่นไส้ การเคี้ยวรากขิงอาจช่วยได้ รวมถึงการดื่มน้ำขิง หรือกินลูกอมรสขิงอาจช่วยได้ นอกจากนี้สมุนไพรอื่นได้แก่ เปปเปอร์มินต์ ลาเวนเดอร์ หรือเลมอนบาล์ม ต่างก็มีฤทธิ์คลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้อาการปวดท้องดีขึ้น

    หายใจเข้าลึกๆ และนั่งสมาธิ

    การบริหารจิตสามารถช่วยให้คุณจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ซึ่งทำให้คุณอยู่กับปัจจุบัน และสามารถช่วยจัดการกับความเครียดและความกังวล ที่เป็นสาเหตุของอาการเครียดลงกระเพาะ นอกจากนี้การนั่งสมาธิหรือการฝึกสมาธิด้วยวิธีอื่นก็สามารถทำให้คุณใจเย็นลงได้

    ลองน้ำมันหอมระเหย

    น้ำมันหอมระเหยหรือเครื่องหอม สามารถช่วยบรรเทาความกังวลได้ ให้คุณซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น คาโมไมล์ ลาเวนเดอร์ หรือกุหลาบ มาใช้เพื่อการผ่อนคลายความตึงเครียดและความกังวล

    หาพื้นที่เพื่อผ่อนคลาย

    ลองหาเวลาและสถานที่ที่จะทำให้คุณรู้สึกปลอดโปร่ง ซึ่งอาจจะเป็นการอยู่คนเดียวก้ได้ แต่ถ้าการคุยกับเพื่อน สมาชิกในครอบครัว หรือคนรัก สามารถช่วยได้ การพูดคุยกับพวกเขาก็จะสามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้

    รับมือกับอาการ เครียดลงกระเพาะ

    จัดการกับความเครียด

    คุณอาจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นกังวล เช่น ความเครียดจากงาน หรือการไปสัมภาษณ์งาน ความเครียดและความกระวนกระวายอาจทำให้เกิดอาการเครียดลงกระเพาะ ดังนั้นคุณควรจัดการกับความเครียด ที่นอกจากจะป้องกันอาการเครียดลงกระเพาะได้แล้ว ยังทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย

    ดูแลสุขภาพลำไส้

    เครียดลงกระเพาะสามารถบอกได้ว่าระบบย่อยอาหารกำลังมีปัญหาบางอย่าง ซึ่งทั้งความเครียดและสุขภาพของลำไส้จำเป็นต้องได้รับการจัดการ ด้วยการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น กินอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์และโพรไบโอติกส์ เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่า โพรไบโอติกส์อาจช่วยบรรเทาความกังวลที่เกี่ยวกับลำไส้ ผ่านการมีปฏิกิริยากับเส้นประสาทเวกัส อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนแปลงการกินอาหาร และการกินอาหารเสริม โดยเฉพาะถ้าคุณกินยา

    ออกกำลังกายให้มากขึ้น

    การออกกำลังกายอาจช่วยบรรเทาความเครียดและความกังวล โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพที่ดี

    เมื่อไหร่ที่ควรกังวล

    ในกรณีที่หาได้ยาก อาการเครียดลงกระเพาะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะถ้าอาการเครียดลงกระเพาะเกิดขึ้นเป็นประจำ และแย่ลงเรื่อยๆ คุณอาจต้องปรึกษากับหมอของคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา