มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก อาจเป็นอีกหนึ่งก้าวของความสัมพันธ์ที่หลายคนตื่นเต้นและเฝ้ารอ ในขณะที่บางคนก็อาจกลัวซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นได้กับทุกคน สิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกับตัวเองให้ดีว่าพร้อมมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้วหรือยัง รวมถึงพูดคุยกับคนรักเพื่อให้เข้าใจกัน และเพื่อให้การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งกับตัวเองและคนรัก นอกจากนี้ ยังควรศึกษาเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย
[embed-health-tool-ovulation]
จะรู้ได้อย่างไรว่าพร้อม มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
มาลองเช็กความรู้สึกกันหน่อยดีกว่า ว่าพร้อมมีเซ็กส์ครั้งแรกแล้วหรือยัง วิธีการก็ไม่ยาก เพียงแค่ถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้
- รู้สึกยังไงกับคนรัก หรือพาร์ทเนอร์
- กับเขาคิดเรื่องเซ็กส์ไปในทางเดียวกันหรือเปล่า
- อึดอัดใจไหมเวลานึกหรือพูดเรื่องการมีเซ็กส์
- ถ้าหากเปลี่ยนใจกะทันหัน จะกล้าปฏิเสธออกไปหรือเปล่า
- อยากมีเซ็กส์ครั้งแรก เพราะ “อยากมี” จริง ๆ หรือเพราะรู้สึกว่าโดนกดดัน จน “ควรจะมี” เซ็กส์สักทีกันแน่
- สะดวกใจที่จะให้อีกฝ่ายเห็นเรือนร่าง หรือสัมผัสร่างกายหรือเปล่า
- พร้อมจะบอกความรู้สึก ความคาดหวัง ความชอบ และสิ่งที่กังวลเกี่ยวกับการมีเซ็กส์ให้อีกฝ่ายรับรู้ไหม
- กล้าบอกอีกฝ่ายไหมว่า เต็มใจทำเรื่องบนเตียงถึงขั้นไหน หรืออยากให้อีกฝ่ายทำอะไรบ้าง
- ยอมรับในความชอบ ขอบเขต ความกังวล หรือความคาดหวังของอีกฝ่ายได้หรือเปล่า แล้วอีกฝ่ายของรับเรื่องเหล่านี้ได้ไหม
- เคยได้คุยกันเรื่องการมีเซ็กส์แบบปลอดภัย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การคุมกำเนิด บ้างไหม
- พร้อมจะรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการมีเซ็กส์ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ หรือเปล่า หรือหากการมีเซ็กส์ครั้งแรกทำให้ความสัมพันธ์แปลกไป รู้สึกผิดหวัง หรือไม่สบายใจ จะรับได้หรือเปล่า
หากคำตอบคือ “ใช่” นั่นแปลว่า อาจพร้อมจะมีเซ็กส์ครั้งแรกแล้ว แต่หากจะเปลี่ยนใจขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่ควรอธิบายเหตุผลให้อีกฝ่ายเข้าใจด้วย จะได้ไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่
มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอย่างปลอดภัย
สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างที่สุด ไม่ว่าจะมีเซ็กส์ครั้งแรกหรือครั้งไหน ๆ ก็คือการมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาสุขภาพตามมาได้
ปัญหาสุขภาพที่อาจมาพร้อมการ มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่
- การติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเลือด เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบบี
- การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ
วิธีมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกให้ปลอดภัย
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเลือด เช่น ถุงยางอนามัยผู้ชาย ถุงยางอนามัยผู้หญิง แผ่นยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเซ็กส์ทั้งแบบที่มีการสอดใส่และไม่สอดใส่
- เลือกวิธีคุมกำเนิดให้เหมาะสม เช่น การฝังยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การกินยาคุมกำเนิด
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมีเซ็กส์ เพราะหากดื่มจนเมา อาจทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง และมีเซ็กส์แบบไม่ป้องกันโดยไม่ตั้งใจ จนอาจเกิดปัญหาตามมาได้
หากลืมป้องกัน ควรทำอย่างไรดี
หากมีเซ็กส์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน เช่น ถุงยางอนามัยแตก หลุด รั่วระหว่างมีเซ็กส์ ฝ่ายหญิงควรกินยาคุมฉุกเฉินเม็ดแรกโดยเร็วที่สุด หรือกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือหากเป็นแบบมียา 2 เม็ด ควรกินยาเม็ดที่ 2 ภายใน 12 ชั่วโมงหลังจากกินยาเม็ดแรก และต้องไม่ลืมไปตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย และหากพบว่าอีกฝ่ายติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที