backup og meta

ซาลโมเนลลา เชื้อแบคทีเรียในไข่ไก่ เราควรต้องกลัวหรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 13/07/2020

    ซาลโมเนลลา เชื้อแบคทีเรียในไข่ไก่ เราควรต้องกลัวหรือเปล่า

    ซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบได้มากในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เชื้อโรคชนิดนี้ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งถ้าเชื้อเข้ากระแสเลือดได้ ก็อาจจะรุนแรงถึงตายได้ ฉะนั้น ก็ศึกษารายละเอียดพวกนี้ไว้ เพื่อจะได้หาทางป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้

    ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกาได้รายงานว่า มีผู้ป่วยจำนวย 11 รายถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล และมีการยืนยันว่าได้ติดเชื้อซาลโมเนลลาด้วย โดยการระบาดนี้เกิดขึ้นจากผักสลัดที่มีการปนเปื้อน โรคระบาดจากอาหารไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในทุกๆปี แค่โรคซาลโมเนลลาอย่างเดียว ก็ทำให้มีผู้ป่วยถึง 1.2 ล้านคน มีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 23,000 คน โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 450 ราย

    ถ้าใครกำลังเป็นกังวลถึงการระบาดของโรคนี้  Hello คุณหมอ ขออาสามาชี้แจงให้ฟังถึงสาเหตุโรคนี้ รวมทั้งวิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคตัวนี้ด้วย

    ซาลโมเนลลา คืออะไร?

    เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มีลักษณะรูปท่อน ต้องการออกซิเจนในการเติบโต อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเชื้อซาลโมเนลลา คือประมาณ 37 องศาเซลเซียส ค่า pH ที่เหมาะสมในการ เติบโตอยู่ระหว่าง 4.1-9.0 เชื้อซาลโมเนลลา มีความสามารถในการทนความร้อนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิด สายพันธุ์ และผลพวงจากสิ่งแวดล้อมในการเติบโต

    เชื้อซาลโมเนลลาเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร

    เชื้อซาลโมเนลลา เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทําให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ และสามารถถ่ายทอดเข้าสู่ร่างกายได้ โดยรับประทานอาหารที่มีเชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อน ซึ่งก็ได้แก่อาหารประเภทเนื้ เช่น พายเนื้อ ไส้กรอก แฮม เบคอน แซนด์วิช และมักเป็นอาหารที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องด้วย นอกจากนี้ยังพบในเนื้อไก่ ไข่ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม รวมทั้งปลา และอาหารทะเล ที่ไม่ได้ผ่านความร้อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้อาหารสุกๆ ดิบๆ ไม่ว่าจะเป็นแหนม ลาบ ยํา ปูเค็ม ปูดอง ผักสด ก็มีโอกาสที่เชื้อซาลโมเนลลาจะปนเปื้อนอยู่ด้วยเหมือนกัน

    จะรู้ได้อย่างไรว่าไข่มีเชื้อซาลโมเนลลาอยู่หรือเปล่า

    โชคร้ายหน่อยนะที่การมองดูด้วยตาเปล่าไม่สามารถจะระบุได้ว่า ไข่เป็นหรือไข่ไก่ที่วางเรียงรายอยู่ใจตู้เย็นของคุณนี้มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ด้วยหรือเปล่า แต่การทำให้สุกก็จะช่วยฆ่าเชื้อซาลโมเนลลาได้ ฉะนั้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคอยู่นี้ ก็อย่าเพิ่งกินไข่ต้มหรือไข่ดาวแบบสุกๆดิบๆ ควรจะสั่งแบบสุกๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่า

    กินไข่แบบออร์แกนิกจะดีกว่ามั้ย

    ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนมากมายที่เทใจให้กับการซื้อไข่ชนิดออร์แกนิกมาบริโภค จะด้วยความที่กลัวจะติดโรคนี้หรือไม่ก็ตามที แต่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้บอกว่า ไม่เกี่ยวหรอกนะว่าจะซื้อแบบออร์แกนิกหรือไม่ออร์แกนิก คุณก็มีโอกาสที่ติดเชื้อซาลโมเนลลาได้เสมอ เนื่องจากยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนถึงการติดเชื้อและความปลอดภัยในการบริโภคไข่ชนิดนี้ ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงเป็ดหรือไก่แบบออร์แกนิกนั้น มักเป็นไข่ที่ปลอดจากยาปฎิชีวะนะ จึงน่าจะดีต่อสุขภาพมากกว่าไข่โดยทั่วไป แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อซาลโมเนลลาได้เหมือนกัน

    อาการติดเชื้อซาลโมเนลลาเป็นอย่างไร

    คนบางคนก็สามารถเป็นพาหะของโรคนี้โดยไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆออกมาให้เห็นเลย แต่โดยทั่วไปผู้ที่ติดเชื้อโรคซาลโมเนลลาจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศรีษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย โดยความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะแตกต่างไปตามปริมาณเชื้อที่บริโภค ชนิดของเชื้อที่บริโภค และภูมิต้านทานของผู้บริโภเองด้วย อาการต่างๆเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นภายใน 12 – 72 ชั่วโมงหลังติดเชื้อ และจะมีอาการอยู่ประมาณ 4 ถึง 7 วัน อย่างไรก็ตามอาการของลำไส้อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเป็นปกติ

    วิธีป้องกันโรคซาลโมเนลลา

    เราสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคซาลโมเนลลาได้หลายวิธี นั่นก็คือ

    • ปรุงอาหารประเภทสัตว์ปีก เนื้อสับ และไข่ต่างๆให้สุก เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียให้ตาย
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ดิบ หรือนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
    • หลังจัดเตรียมอาหารประเภทเนื้อดิบหรือสัตว์ปีก ก็ควรล้างมือ ล้างเขียง รวมทั้งภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่
    • อย่าปล่อยให้เนื้อดิบหรือสัตว์ปีกที่เตรียมไว้นั้น ไปสัมผัสกับอาหารประเภทอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ความร้อนในการทำให้สุก (อย่างเช่น ผักสลัด มะเขือเทศ และส่วนผสมในสลัดต่างๆ)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 13/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา