backup og meta

ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก (Gum Tissue Graft) ทางออกสำหรับผู้ที่มีปัญหา เหงือกร่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 26/11/2020

    ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก (Gum Tissue Graft) ทางออกสำหรับผู้ที่มีปัญหา เหงือกร่น

    เหงือกร่น เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่สามารถพบได้บ่อย ๆ และหลายคนมักจะมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ จนกระทั่งปัญหาเหงือกร่นนั้นรุนแรงจนส่งผลร้ายต่อสุขภาพฟันของเรา แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะมีหนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหงือกร่นจนมองเห็นรากฟันได้ นั่นก็คือ ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก วันนี้ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการ ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

    ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก คืออะไร

    ศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก (Gum Tissue Graft) หรือการปลูกถ่ายเหงือก เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อรักษาปัญหาเหงือกร่น หนึ่งในปัญหาสุขภาพเหงือกที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การแปรงฟันแรงเกินไป การสะสมของคราบพลัคและขี้ฟัน หรือแม้กระทั่งอายุที่เพิ่มขึ้น จนทำให้เหงือกที่หุ้มตัวฟันนั้นเกิดการหย่อนคล้อยลง จนทำให้สามารถมองเห็นส่วนรากฟันได้

    การศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือกนั้นจะทำการตัดเอาชิ้นเนื้อเยื่อจากส่วนอื่น ๆ ในปาก มาติดเข้ากับเนื้อเยื่อเหงือกส่วนที่มีปัญหา เพื่อช่วยปกปิดรากฟันที่โผล่ออกมา ทำให้เนื้อเหงือกดูเต็มขึ้น ช่วยปกป้องฟัน และทำให้คุณมีรอยยิ้มที่ดูสวยมากยิ่งขึ้น

    ประเภทของศัลยกรรม ปลูกถ่ายเหงือก

    ประเภทต่าง ๆ ของการศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือกนั้นจะแตกต่างกันตามจุดเนื้อเยื่อที่นำมาใช้ในการปลูกถ่ายเหงือก ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าคุณควรที่จะทำการปลูกถ่ายเหงือกประเภทใด โดยดูจากระดับความรุนแรงและความเหมาะสมของแต่ละคน

    ประเภทของการศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก อาจแบ่งได้ดังต่อไปนี้

  • การปลูกถ่าย เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue grafts)
  • วิธีการนี้เป็นการ ปลูกถ่ายเหงือก ที่พบได้บ่อยที่สุด แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อจากใต้เพดานปากออกมาเพื่อนำมายึดติดเข้ากับเหงือกส่วนที่มีปัญหา จากนั้นจึงเย็บปิดแผลที่เพดานปากให้ปิดสนิท

    • การปลูกถ่าย แผ่นเหงือกอิสระ (Free gingival grafts)

    วิธีการนี้จะคล้ายคลึงกันการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แต่แพทย์จะใช้เนื้อเยื่อส่วนของเพดานปากมาติดเข้ากับเหงือกแทน วิธีการนี้มักจะใช้กับผู้ที่มีปัญหาเหงือกบาง และจำเป็นต้องใช้เนื้อเยื่อเพื่อช่วยเพิ่มความหนาของเหงือกให้มากขึ้น

    • การปลูกถ่าย เหงือกแบบเลื่อนแผ่นเหงือก (Pedicle grafts)

    สำหรับวิธีการนี้ แพทย์จะไม่ไปตัดชิ้นเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นมา แต่จะใช้เนื้อเยื่อจากเหงือกในบริเวณใกล้เคียงมาแทน โดยที่แพทย์จะเนื้อเยื่อเหงือกแค่เพียงบางส่วน โดยปล่อยให้ส่วนฐานยังคงติดอยู่กับเหงือกที่เดิม จากนั้นก็จะดึงเนื้อเยื่อส่วนนั้นขึ้นมาหุ้มรอบฟันส่วนที่มีปัญหา วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเหงือกอยู่

    ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น

    กระบวนการศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือกนั้นค่อนข้างที่จะปลอดภัย และไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรมากมาย แต่ในบางครั้งก็การศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือกก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

    • เลือดออกตามไรฟัน
    • เหงือกบวม เหงือกอักเสบ
    • ฟันโยก
    • เสียวฟันได้ง่าย
    • ฟันห่าง
    • เหงือกติดเชื้อ

    ผู้ป่วยควรคอยสังเกตมองหาสัญญาณของอาการติดเชื้อ และแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น

  • เลือดไหลไม่หยุด
  • รู้สึกปวดเหงือกอย่างรุนแรง
  • เป็นไข้
  • แผลเป็นหนอง
  • เหงือกบวม
  • เหงือกช้ำ
  • หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาการติดเชื้อเหล่านี้อาจลุกลาม และส่งผลร้ายต่อสุขภาพช่องปากและฟันได้ หากคุณสังเกตเห็นอาการที่กล่าวมาเบื้องต้น ควรรีบติดต่อแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที

    การดูแลตัวเองหลัง การศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก

    หลังเสร็จสิ้นการศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือกแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่แพทย์อาจจะมีคำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติ เพื่อช่วยให้การฟื้นฟูบาดแผลหลังการศัลยกรรมนั้นเป็นไปได้ด้วยดี และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน

    เทคนิคในการดูแลตัวเองหลังการศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก มีดังต่อไปนี้

    • ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากปลูกถ่ายเหงือก ให้เลือกรับประทานอาหารนิ่ม เช่น ไข่ต้ม โยเกิร์ต ผักต้มสุก หรือนม และหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง อาหารเผ็ด อาหารร้อนจัด หรืออาหารเย็นจัด
    • ระหว่างการแปรงฟัน ควรระมัดระวังไม่ให้ไปโดนตรงบริเวณที่มีแผล
    • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ทันตแพทย์แนะนำ เพื่อช่วยลดการสะสมของคราบพลัคและเชื้อแบคทีเรีย
    • ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
    • ใช้ยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งให้จนครบกำหนด อย่าหยุดใช้ยาเอง
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก

    เทคนิคเหล่านี้ จะช่วยให้แผลของคุณฟื้นฟูได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ ได้อีกด้วย แต่หากรู้สึกเจ็บ บวม เลือดไหลไม่หยุด บริเวณที่มีการศัลยกรรมปลูกถ่ายเหงือก หรือมีไข้ ขอให้รีบไปพบทันตแพทย์หรือแพทย์ใกล้บ้านในทันที เพื่อวินิจฉัยอาการและให้การรักษาอย่างทันท่วงที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 26/11/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา