backup og meta

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ การจัดฟัน ที่คุณควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 07/05/2020

    ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ การจัดฟัน ที่คุณควรรู้

    หลายคนอาจจะเคยลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดฟัน และได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ มากมาย แต่ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะมีทั้งสิ่งที่เป็นจริง และสิ่งที่ไม่เป็นจริง วันนี้ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ การจัดฟัน เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ และทำความเข้าใจกับเสียใหม่

    ความเชื่อที่ 1 การจัดฟัน มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น

    หลายคนมักจะชอบคิดว่า การจัดฟันนั้นมีเพียงเด็กๆ เท่านั้นที่ทำกัน คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ไปจัดฟันก็ไม่มีประโยชน์อะไร นี่เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริงๆ แล้ว ไม่มีใครแก่เกินกว่าจะจัดฟัน

    จริงอยู่ที่ว่า ช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการจัดฟัน อยู่ที่ระหว่าง 9 ปี ถึง 14 ปี เป็นช่วงเวลาที่เด็กกำลังเจริญเติบโต ทำให้สามารถจัดการปรับเปลี่ยนลักษณะ รูปร่างของช่องปาก และการเรียงตัวของฟันได้ง่ายกว่าในวัยผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การจัดฟัน ในช่วงวัยผู้ใหญ่จะไม่สามารถทำได้

    ในปัจจุบันนี้มีคนเป็นจำนวนมาก ที่เริ่มทำการจัดฟันในช่วงวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการที่ไม่มีโอกาสที่เหมาะสมที่จะจัดฟัน ปัญหาเรื่องเงิน หรือปัญหาด้านอื่นๆ การจัดฟันในช่วงวัยผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่พบเจอได้มากขึ้น ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการจัดฟันแทบจะไม่ต่างอะไรกับการจัดฟันในช่วงวัยเด็ก เพียงแต่อาจจะใช้เวลานานกว่าการจัดฟันในช่วงวัยเด็กเท่านั้น

    ความเชื่อที่ 2 คนจัดฟันจูบกันไม่ได้

    บางคนอาจจะเคยได้ยินมุกตลกเกี่ยวกับคนจัดฟันสองคนจูบกันแล้วเหล็กดัดฟันติดกัน แต่คุณไม่จำเป็นต้องกังวลไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ยิ่งโดยเฉพาะเหล็กดัดฟันสมัยใหม่ ยิ่งไม่มีโอกาสไปติดกับเหล็กดัดฟันของอีกคนขณะจูบกันได้ เพราะเครื่องมือจัดฟันเหล่านี้จะติดอยู่กับฟันอย่างแน่นหนามาก ลวดดัดฟันก็จะตึงแน่นติดไปกับฟัน ทั้งยังไม่ได้ทำขึ้นมาจากแม่เหล็ก จึงไม่ดึงดูดกับเหล็กดัดฟันของอีกคน แม้ว่าจะจูบกันอย่างดูดดื่มแค่ไหนก็ตาม

    ความเชื่อที่ 3 จัดฟัน หมอฟันคนไหนก็ทำได้

    เราอาจจะคิดว่า หากเราอยากทำฟัน จะเดินเข้าคลินิกทำฟันร้านไหนก็เหมือนๆ กัน หมอฟันคนไหนๆ ก็จัดฟันได้ทั้งนั้นล่ะ แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่จะสามารถทำการจัดฟันให้เราได้ จะต้องเป็น ทันตแพทย์จัดฟัน (Orthodontists) ผู้ผ่านการอบรบความรู้ทางด้าน การจัดฟัน มาแล้วเท่านั้น ระดับความชำนาญทางด้านการจัดฟันของทันตแพทย์จัดฟันจะไม่เท่ากับทันตแพทย์ทั่วไป ที่สามารถทำได้แค่การรักษาสุขภาพช่องปากพื้นฐาน เช่น อุดฟัน การถอนฟัน และการขูดหินปูน เป็นต้น

    ทันตแพทย์จัดฟันที่ผ่านการรับรองนั้นจะต้องผ่านหลักสูตรการสอน 3 ปี เต็ม ในด้านของการทันตกรรมจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันนั้นจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การยึดฟัน และการแก้ไขรูปแบบการสบฟันหรือการกัดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทันตแพทย์ทั่วไปไม่มี

    ความเชื่อที่ 4 จัดฟันเสร็จแล้วฟันก็จะอยู่ในสภาพนั้นตลอดไป

    คนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันเสร็จแล้วก็จบกัน ฟันของคุณจะเรียงตัวสวยอยู่สภาพนั้นไปตลอด ไม่เปลี่ยนแปลงไปอีกเลยตลอดกาล นี่เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ไม่เป็นจริง หลังจากที่คุณจัดฟันเสร็จแล้ว ฟันของคุณยังสามารถมีการเคลื่อนที่อยู่ต่อไปได้อีก ดังนั้นคุณจึงจำเป็นจะต้องใส่ รีเทนเนอร์ (Retainer) ไปอีกตลอดชีวิต เพื่อรักษารูปแบบของฟันให้คงอยู่ดังเดิม และไม่ให้ฟันล้ม จนต้องกลับมาจัดฟันใหม่อีกครั้ง

    ความเชื่อที่ 5 จัดฟันแล้วจะปวดฟันอยู่ตลอดเวลา

    บางคนอาจจะคิดว่า การจัดฟัน จะทำให้คุณรู้สึกปวดฟันอยู่ตลอดเวลา จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ความจริงแล้วการจัดฟันนั้นอาจจะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว หรือมีอาการปวดอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ปวดอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอาการปวดมากในช่วงจัดฟันใหม่ๆ หรือช่วงที่ต้องมีการใส่ยางดึงฟัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เราจะเริ่มปรับตัวได้ และไม่รู้สึกถึงอาการปวดใดๆ

    ความเชื่อที่  6 จัดฟันแล้วจะกินอะไรก็ไม่ได้

    คุณอาจจะคิดว่า เมื่อจัดฟันแล้วก็จะเคี้ยวอะไรไม่ไหว กินอะไรไม่ได้ ต้องหยอดน้ำข้าวต้มปะทังชีวิตไปเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่จัดฟันนั้นสามารถกินอาหารได้ตามปกติ แทบจะไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ไม่ได้จัดฟันเลย เพียงแต่อาจจะมีอาหารบางประเภทที่ผู้จัดฟันควรหลีกเลี่ยง เช่น อาหารแข็งๆ อย่าง ถั่ว น้ำแข็ง และตัดอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนกิน เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารเหล่านี้ไปทำให้เหล็กดัดฟันหลุดออกมา

    Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 07/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา