backup og meta

จัดฟัน มีกี่แบบ การเตรียมตัวและปัจจัยเสี่ยง

จัดฟัน มีกี่แบบ การเตรียมตัวและปัจจัยเสี่ยง

จัดฟัน เป็นวิธีการรักษาทางทันตกรรมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาฟันยื่นเหยิน ฟันห่าง ปัญหาการสบฟัน การบดเคี้ยว หรือแก้ไขให้ฟันเรียงตัวสวยขึ้น โดยอาจมีรูปแบบและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอและปัญหาสุขภาพช่องปากของแต่ละคน

จัดฟัน คืออะไร

จัดฟัน เป็นวิธีรักษาทางทันตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาในช่องปาก เช่น ฟันซ้อนไม่เรียงตัว ฟันยื่นเหยิน ฟันห่าง ฟันล่างซ้อนทับฟันบน ปัญหาการสบฟัน ปัญหาขากรรไกร ปัญหาการเคี้ยวอาหาร และในบางคนอาจจัดฟันเพื่อแก้ไขรอยยิ้มให้สวยงามขึ้น ซึ่งวิธีการจัดฟันมีหลายประเภทและอาจใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับปัญหาสุขภาพช่องปาก และดุลยพินิจของคุณหมอด้วย

วัยเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมในการจัดฟันมากที่สุด เนื่องจากกระดูกยังคงเจริญเติบโต จึงทำให้ฟันเคลื่อนตัวได้ง่ายกว่า และอาจใช้ระยะเวลาจัดฟันน้อยกว่า หากจัดฟันตอนอยู่ในวัยผู้ใหญ่ซึ่งกระดูกอาจหยุดการเจริญเติบโตแล้ว ก็อาจทำให้ฟันเคลื่อนตัวได้ยากขึ้น หรือบางกรณีอาจต้องผ่าตัดด้วย และอาจต้องใช้เวลาจัดฟันนานขึ้น

ประเภทของการจัดฟัน

ประเภทของการจัดฟันสามารถแบ่งตามลักษณะของเครื่องมือจัดฟันได้ ดังนี้

1. เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น

เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นเป็นอุปกรณ์จัดฟันที่พบเห็นได้ทั่วไป สามารถใส่รับประทานอาหารได้ตามปกติ มักทำจากโลหะและอาจติดเครื่องมือไว้ที่ด้านหน้าฟัน หรือด้านหลังฟัน และมีส่วนประกอบอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • แบร็กเก็ต (Bracket) เป็นอุปกรณ์สำหรับติดบนฟันด้านหน้าหรือด้านหลังฟัน อาจทำด้วยสแตนเลส หรือเซรามิก
  • เครื่องมือจัดฟันลักษณะคล้ายแหวนครอบฟัน (Ring-like bands) ใช้ยืดติดเครื่องมือบริเวณฟันกราม
  • ลวดยึดฟัน (Archwire) เป็นลวดที่ยึดเชื่อมระหว่างฟันเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของฟัน
  • ยางดึงฟัน (Elastic ties) ใช้ยึดลวดกับแบร็กเก็ต หรือใช้เป็นตัวช่วยในการขยับฟัน
  • เฮดเกียร์ (Headgear) เป็นเครื่องมือใช้สวมศีรษะเพื่อเพิ่มแรงกด และช่วยเคลื่อนฟัน
  • หมุดดึงฟัน (Temporary Anchorage Device : TAD) หมุดที่นำไปยึดไว้ในกระดูกขากรรไกรเพื่อเพิ่มแรงกด และช่วยเคลื่อนฟัน

2. เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้

เป็นเครื่องมือจัดฟันสำหรับคนที่ต้องการปรับการเรียงตัวของฟันเพียงเล็กน้อย มีลักษณะเป็นพลาสติกและเครื่องมือจัดฟันแบบใส เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการเห็นเครื่องมือจัดฟันติดบนฟันและสามารถอดออกมาทำความสะอาดได้ โดยคุณหมอจะให้อุปกรณ์จัดฟันมาเป็นชุด ซึ่งแต่ละชุดจะใส่เป็นเวลา 1-3 สัปดาห์ และควรใส่ให้ครบ 24 ชั่วโมงโมงต่อวัน ยกเว้นในช่วงรับประทานอาหาร และแปรงฟัน

เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ไม่สามารถใส่ขณะรับประทานอาหารเพราะอาจทำให้เครื่องมือเสียหาย จึงควรถอดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

3. รีเทนนอร์

รีเทนเนอร์เป็นตัวช่วยพยุงและยึดฟันให้เข้าที่อยู่เสมอหลังจัดฟันเสร็จแล้ว หากไม่ใส่รีเทนเนอร์ตามคำแนะนำของคุณหมออาจส่งผลให้ฟันล้ม หรือฟันเคลื่อนตัวผิดตำแหน่ง และอาจต้องจัดฟันใหม่

การเตรียมตัวก่อนจัดฟัน

การเตรียมสุขภาพช่องปากก่อนจัดฟัน สามารถทำได้ดังนี้

  • ตรวจสุขภาพช่องปาก คุณหมอจะตรวจสุขภาพช่องปากอย่างละเอียด หากพบปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันคุด ฟันผุ จะได้รักษาก่อนใส่เครื่องมือ
  • เอ็กซเรย์ช่องปาก คุณหมอจะสั่งเอ็กซเรย์ช่องปากเพื่อตรวจดูตำแหน่งของฟัน ขากรรไกร หรือฟันคุดที่ยังไม่งอก เพื่อวางแผนการจัดฟัน
  • พิมพ์ฟัน คุณหมอจะพิมพ์ฟันโดยให้ผู้ป่วยกัดวัสดุพิมพ์ฟันไว้ประมาณ 2-3 นาที เพื่อประเมินการกัดของฟัน การเรียงตัวของฟัน และวางแผนการรักษาต่อไป
  • ถอนฟัน กรณีนี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ที่มีฟันยื่นเหยิน คุณหมออาจให้ถอนฟันกรามน้อยบางซี่เพื่อดึงฟันให้ยุบเข้า

ความเสี่ยงของการจัดฟัน

ความเสี่ยงของการจัดฟันอาจเกิดขึ้นได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

  • ความเสี่ยงระยะสั้น การจัดฟันอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันในขณะที่ฟันเคลื่อนตัว ซึ่งอาจทำให้เป็นแหล่งสะสมของเศษอาหารและทำให้เกิดคราบพลัคที่มีแบคทีเรีย อาจส่งผลเสียต่อเคลือบฟันด้านนอก ทำให้เกิดฟันผุ หรือโรคเหงือกตามมาได้
  • ความเสี่ยงระยะยาว
    • หลังจากการจัดฟันคุณหมอจะแนะนำให้ใส่รีเทนเนอร์เพื่อพยุงฟัน หากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำอาจทำให้ฟันล้ม หรือฟันอาจเคลื่อนตัวผิดตำแหน่งได้
    • ระหว่างจัดฟันเมื่อฟันเคลื่อนตัว กระดูกบางส่วนที่ยึดฟันจะละลายและสร้างกระดูกขึ้นใหม่เพื่อยึดฟันในตำแหน่งที่ฟันเคลื่อนตัวไป ซึ่งอาจส่งผลให้รากฟันสั้นลงและการยึดตัวของรากฟันอาจน้อยลงตามไปด้วย

การดูแลตัวเองเมื่อจัดฟัน

การดูแลช่องปากในขณะจัดฟัน เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพช่องปากและเครื่องมือจัดฟันเสียหาย มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็งหรือเหนียว หมากฝรั่ง ลูกอม ถั่ว รวมถึงพฤติกรรมการกัดเคี้ยวน้ำแข็ง เพราะอาจทำให้อุปกรณ์จัดฟันเสียหาย แตก หัก หรือหลุดได้ ส่งผลให้ต้องใช้เวลาจัดฟันนานขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เพราะอาจทำให้มีคราบพลัคสะสม จนทำลายเคลือบฟันและทำให้เกิดฟันผุได้
  • แปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ เพราะเศษอาหารอาจติดตามซอกเครื่องมือจัดฟัน และควรเลือกแปรงสีฟันขนนุ่มสำหรับคนจัดฟัน ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ เพื่อลดคราบพลัคและป้องกันฟันผุ แต่ถ้าหากไม่สะดวกแปรงฟันทันที อาจใช้วิธีบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดเพื่อขจัดเศษอาหารออกก่อนได้
  • ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำเพื่อขจัดเศษอาหารออกจากซอกฟันและเครื่องมือจัดฟัน หรืออาจใช้แปรงซอกฟันขนาดเล็กที่คุณหมอแนะนำเพื่อขจัดคราบพลัคให้สะอาดยิ่งขึ้น
  • พบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและปรับเครื่องมือตามนัดหมายสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันฟันพุหรือโรคเหงือกที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจัดฟัน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอขณะจัดฟัน เพราะหากไม่ปฏิบัติตาม อาจทำให้เครื่องมือจัดฟันเสียหาย หรือเกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก ส่งผลให้ต้องใช้เวลาจัดฟันนานขึ้นอีก

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Orthodontic treatments. https://www.nhs.uk/conditions/orthodontics/treatments/. Accessed September 27, 2021

Are you too old for braces?. https://www.health.harvard.edu/healthbeat/are-you-too-old-for-braces. Accessed September 27, 2021

Dental braces. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/braces/about/pac-20384607. Accessed September 27, 2021

The Basics of Braces. https://kidshealth.org/en/parents/braces.html. Accessed September 27, 2021

Braces. https://www.webmd.com/oral-health/braces-and-retainers#1. Accessed September 27, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2021

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ การจัดฟัน ที่คุณควรรู้

รีเทนเนอร์ ประเภท และวิธีการดูแลรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/09/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา