backup og meta

ปัญหาสุขภาพช่องปากในวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพเล็ก ๆ ที่ต้องใส่ใจ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/08/2021

    ปัญหาสุขภาพช่องปากในวัยรุ่น ปัญหาสุขภาพเล็ก ๆ ที่ต้องใส่ใจ

    ปัญหาสุขภาพช่องปากในวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฟันคุด ฟันผุ เหงือกร่น หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก ล้วนเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ให้ความสำคัญในการดูแลช่องปาก เช่น กินขนมหวานแล้วไม่ยอมแปรงฟัน ดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป การกระทำเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ปัญหา สุขภาพช่องปากและฟันของวัยรุ่น ได้ในที่สุด การตระหนักรู้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และการดูแลสุขภาพช่องปากของวัยรุ่นอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย

    ปัญหาสุขภาพช่องปากในวัยรุ่น มีอะไรบ้าง

    วัยรุ่นเป็นวัยที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากมากมาย แตกต่างกันไปในแต่ละคน ปัญหาสุขภาพฟันของวัยรุ่น ที่อาจพบได้ มีดังนี้

    ฟันผุ

    ฟันผุ เป็นหนึ่งใน ปัญหาสุขภาพฟันของวัยรุ่น ที่พบได้บ่อย หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ นำไปสู่อาการปวดหรือสูญเสียฟันได้ การป้องกันฟันผุสามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก เช่น แปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง แปรงลิ้น ใช้ไหมขัดฟัน ควบคู่ไปกับการลดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ลูกอม น้ำอัดลม

    โรคเหงือก

    โรคเหงือกมี 2 ชนิด คือ โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งล้วนมีสาเหตุจากคราบพลัคสะสมที่โคนฟัน ทำให้มีอาการเลือดออก เหงือกแดงและบวม โรคเหงือกอักเสบมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคปริทันต์อักเสบ ที่อาจลุกลามมากขึ้นจนเหงือกติดเชื้อ และอาจส่งผลทำให้ฟันหลุดได้

    ช่วงวัยรุ่นที่มีความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกมากขึ้น ดังนั้น วัยรุ่นจึงควรดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี และเข้าพบทันตแพทย์ทันทีถ้าหากสังเกตพบอาการของโรคเหงือก เช่น เหงือกบวม เหงือกอักเสบ มีเลือดออกในช่องปาก

    ฟันซ้อน ฟันไม่เรียงตัว

    อีกหนึ่ง ปัญหาสุขภาพฟันของวัยรุ่น ที่พบบ่อยคือ ฟันซ้อน ไม่เรียงตัว ซึ่งอาจเกิดจากการที่เหงือกมีพื้นที่ว่างไม่พอให้ฟันเรียงตัว ทำให้ฟันขึ้นโดยมีลักษณะทับซ้อนกัน ไม่สวยงาม นอกจากนี้ ปัญหาฟันซ้อนยังอาจนำไปสู่ปัญหาช่องปากอื่น ๆ เช่น ฟันไม่สบกัน ฟันผุ ปัญหาการขบกัด ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม

    ฟันคุด

    ฟันคุด คือฟันกรามซี่สุดท้ายที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้ตามปกติ จนอาจไปเบียดฟันข้าง ๆ แล้วทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือนำไปสู่การอักเสบและการติดเชื้อได้ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในวัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 15-25 ปี ผู้ที่มีปัญหาฟันคุดอาจต้องทำการผ่าตัดหรือถอนฟันคุดออกเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเสียหาย แต่ในบางกรณี ฟันคุดก็อาจไม่ก่อให้เกิดปัญหา และไม่จำเป็นต้องทำการถอนออก

    การดูแล สุขภาพช่องปากและฟันของวัยรุ่น

    สิ่งที่สำคัญในการลด ปัญหาสุขภาพฟันของวัยรุ่น คือการดูแลสุขอนามัยในช่องปาก เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาสุขภาพช่องปากส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในอนาคต วิธีการดูแลสุขภาพช่องปาก มีดังต่อไปนี้

    เข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำ

    • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ
    • ปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก รวมถึงประเมินการกัดและความเสี่ยงในการเกิดฟันคุด
    • รับการเคลือบฟลูออไรด์ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงในการฟันผุสูง
    • รักษาปัญหาช่องปากต่าง ๆ เช่น อุดฟัน จัดฟัน ให้เรียบร้อย

    ดูแลสุขอนามัยในช่องปาก

    • แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและก่อนนอน หรือหลังอาหารทุกมื้อ หลังแปรงฟันให้บ้วนยาสีฟันออกแต่ไม่จำเป็นต้องบ้วนน้ำตาม เพราะฟลูออไรด์ที่อยู่ในยาสีฟันจะช่วยป้องกันฟันผุได้
    • ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
    • ผู้ที่จัดฟันควรดูแลอุปกรณ์จัดฟันเป็นพิเศษ
    • คอยสังเกตความผิดปกติของช่องปาก หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์ในทันที

    โภชนาการเพื่อ สุขภาพช่องปากและฟันของวัยรุ่น

    • ควรลดการรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาล เช่น ลูกอม คุกกี้ เค้ก น้ำผลไม้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้
    • ควรเลือกรับประทานผลไม้สด แทนการดื่มน้ำผลไม้
    • ควรเลือกดื่มน้ำเปล่า แทนการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือน้ำหวานอื่น ๆ

    การป้องกันการบาดเจ็บ

    • เรียนรู้วิธีการป้องกันการบาดเจ็บในช่องปาก และจัดการกับภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เช่น ฟันแตก ฟันหัก
    • ป้องกันตัวเองทุกครั้งเมื่ออยู่บนยานพาหนะ เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อค เพื่อความปลอดภัย
    • ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมหรือกีฬาที่อาจทำให้บาดเจ็บได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา