backup og meta

วิธีแก้ร้อนใน และวิธีดูแลช่องปาก อย่างเหมาะสม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 22/03/2023

    วิธีแก้ร้อนใน และวิธีดูแลช่องปาก อย่างเหมาะสม

    แผลร้อนใน เป็นแผลบวมแดงที่มักเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้ม ลิ้น ใต้ลิ้น ริมฝีปากด้านใน ภายในปากอาจมีแผลร้อนในพร้อมกันเกิน 1 จุด และแผลอาจเพิ่มจำนวนหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ วิธีแก้ร้อนใน สามารถทำได้ด้วยการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์และสารฆ่าเชื้อ ทาเจลฆ่าเชื้อที่แผล ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยทั่วไป แผลร้อนในจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากเป็นแผลนานกว่า 3 สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    ร้อนใน คืออะไร

    ร้อนใน หรือแผลร้อนใน (Mouth ulcers) เป็นแผลตื้น ๆ ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี ตรงกลางเป็นสีขาวอมเหลือง ขอบแผลเป็นสีแดง ที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้ม ลิ้น ใต้ลิ้น เพดานปาก ริมฝีปากด้านใน เหงือก อาจทำให้รู้สึกเจ็บ รับประทานอาหารไม่สะดวกหรือพูดได้ลำบาก หากเครียด เจ็บป่วย อ่อนเพลียรุนแรง ก็อาจทำให้อาการร้อนในแย่ลงได้ ทั้งนี้ แผลร้อนในไม่ใช่โรคไม่ติดต่อ ต่างจากแผลโรคเริม (Cold sores) ที่พบบริเวณริมฝีปากด้านนอกและรอบริมฝีปาก ซึ่งสามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้

    ร้อนใน เกิดจากอะไร

    ร้อนในเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

    • การเผลอกัดกระพุ้งแก้มจนเกิดแผลซึ่งพัฒนาไปเป็นแผลร้อนใน
    • เนื้อเยื่อในช่องปากบาดเจ็บจากการแปรงฟันรุนแรงเกินไป
    • เนื้อเยื่อในช่องปากเสียดสีกับฟันปลอมหรือเหล็กดัดฟันอย่างต่อเนื่อง
    • เนื้อเยื่อในช่องปากแสบร้อนจากการรับประทานอาหารร้อน
    • การระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาบ้วนปากและยาสีฟันที่ส่วนประกอบของโซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate)
    • การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสเริม
    • ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อปัจจัยบางประการ เช่น ยาบางชนิด แบคทีเรียในช่องปาก
    • ภาวะไลเคนอยด์ในช่องปาก (Oral lichen planus) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง
    • ภาวะสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) การติดเชื้อ HIV โดยเฉพาะในระยะโรคเอดส์
    • การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 เหล็ก สังกะสี
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน
    • โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคเซลิแอค (Celiac disease)
    • โรคมะเร็งช่องปาก (Oral cancer)

    ร้อนใน อาการเป็นอย่างไร

    ภาวะร้อนใน อาจมีอาการดังนี้

    • รู้สึกเสียวแปลบหรือแสบร้อนก่อนแผลร้อนในปรากฏประมาณ 1-2 วัน
    • ผิวหนังรอบแผลร้อนในมีอาการบวม
    • รู้สึกเจ็บจนไม่สามารถเคี้ยว แปรงฟัน หรือพูดคุยได้ตามปกติ
    • รู้สึกระคายเคืองหรือแสบแผลเมื่อรับประทานอาหารรสเค็ม เผ็ด หรือเปรี้ยว
    • ไม่อยากอาหาร

    ประเภทของร้อนใน

    อาจแบ่งได้ดังนี้

    • แผลร้อนในขนาดเล็ก (Minor canker sores) ลักษณะเป็นแผลตื้น มีรูปร่างเป็นวงรี ตรงกลางแผลเป็นสีขาว ขอบแผลเป็นสีแดง โดยทั่วไปจะหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ทิ้งแผลเป็น แผลร้อนในประเภทนี้พบได้บ่อยที่สุด
    • แผลร้อนในขนาดใหญ่ (Major canker sores) แผลลึกลงไปในเนื้อเยื่อ มีขนาดใหญ่ ขอบแผลมักชัดเจน แต่หากแผลมีขนาดใหญ่มาก อาจมีขอบไม่สม่ำเสมอ มักทำให้เจ็บปวดรุนแรง และอาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้ บางครั้งอาจใช้เวลารักษานานถึง 6 สัปดาห์
    • แผลร้อนในที่มีลักษณะคล้ายเริม (Herpetiform) ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ขนาดประมาณเข็มหมุด มักขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ แต่ก็อาจรวมกันเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว มีขอบไม่สม่ำเสมอ โดยทั่วไปจะหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ แผลร้อนในลักษณะนี้พบได้ไม่บ่อย และมักเกิดขึ้นในคนอายุเยอะ

    วิธีแก้ร้อนใน มีอะไรบ้าง

    โดยส่วนใหญ่ แผลร้อนในจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา แต่วิธีดูแลตัวเองต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก และช่วยให้แผลหายไวขึ้น

    • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ปราศจากแอลกอฮอล์ และควรมีส่วนประกอบของคลอเฮกซิดีนกลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate) ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
    • ใช้ยาป้ายปาก อาจช่วยบรรเทาอาการปวดบวมของแผลร้อนในได้
    • ทาเจลฆ่าเชื้อ (Antiseptic gel) บริเวณแผลร้อนใน เพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมแดง ระคายเคืองแผล ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการสมานแผลตามธรรมชาติ
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเผ็ดและร้อน หากแผลร้อนในยังไม่หายดี
    • รักษาความสะอาดภายในช่องปากและรอบริมฝีปาก ซับปากด้วยผ้าสะอาดหรือทิชชู่หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรแปรงฟันก่อนนอน และไม่รับประทานอาหารหลังแปรงฟันอีก
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน
    • ใช้หลอดดูดเมื่อดื่มเครื่องดื่มเย็น
    • บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ โดยควรอมน้ำเกลืออุ่นไว้อย่างน้อย 4 นาทีแล้วค่อยบ้วนทิ้ง
    • คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยากดภูมิคุ้มกันในกรณีที่มีอาการร้อนในรุนแรง

    วิธีป้องกันร้อนใน

    วิธีป้องกันร้อนใน อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อช่วยป้องกันการขาดสารอาหาร
    • ลดการรับประทานอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด อาหารทอด อาหารเผ็ด เค็ม หรือเปรี้ยวจัด เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากระคายเคืองจนเป็นร้อนในได้
    • แปรงฟันอย่างระมัดระวัง ไม่แปรงฟันรุนแรงเกินไป ใช้แปรงสีฟันขนนุ่มที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากเป็นแผลหรือระคายเคือง
    • รักษาโรคที่ทำให้เสี่ยงเกิดแผลร้อนใน
    • สำหรับผู้ที่จัดฟันควรใช้ขี้ผึ้งแปะลวดจัดฟัน เพื่อลดการเสียดสีของลวดจัดฟันกับเยื่อบุอ่อนในช่องปาก โดยเฉพาะหากเป็นร้อนในบ่อยครั้ง
    • จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 22/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา