backup og meta

อาการโรคเอดส์ สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    อาการโรคเอดส์ สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

    อาการโรคเอดส์ คือ อาการของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในระยะสุดท้าย ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลง และเกิดภาวะแทรกซ้อนมากมายจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิต โดยปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดแต่มีวิธีที่ช่วยบรรเทา อาการโรคเอดส์ อีกทั้งยังควรศึกษาการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและการแพร่กระจายไวรัสเอชไอวีไปยังบุคคลอื่น

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการโรคเอดส์

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการโรคเอดส์ อาจเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีจากคู่นอนที่ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ การรับเลือดจากผู้ติดเชื้อการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะคลอดบุตรในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีและการให้นมบุตรจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี

    ไวรัสเอชไอวีจะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งหากร่างกายมีเซลล์ซีดีโฟร์ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร ก็อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

    สัญญาณเตือนของอาการโรคเอดส์

    สัญญาณเตือนของอาการโรคเอดส์มักจะเกิดขึ้นในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยในระยะที่ 1 ของการติดเชื้ออาการจะปรากฏภายใน 2-4 สัปดาห์ ซึ่งจะมีอาการคล้ายไข้หวัด และอาจหายได้เอง เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 อาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เชื้อไวรัสจะยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเข้าสู่ช่วงระยะสุดท้าย คือระยะเอดส์ หรือที่เรียกว่าโรคเอดส์ ที่อาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการดังนี้

    • มีไข้นานกว่า 10 วัน
    • ท้องเสียนานกว่า 1 สัปดาห์
    • ผื่นที่ผิวหนัง รวมถึงภายในปาก จมูก เปลือกตาที่ปรากฏเป็นจุดสีขาว ชมพู น้ำตาล แดง หรือม่วง
    • มีแผลในปาก ทวารหนัก และรอบ ๆ อวัยวะเพศ
    • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
    • หายใจถี่
    • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
    • เหงื่อออกตอนกลางคืน
    • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบบวมเป็นเวลานาน
    • รอยช้ำบนผิวหนังโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • มีอาการทางระบบประสาท เช่น ซึมเศร้า ความจำเสื่อม ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการทรงตัว
    • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง

    การรักษาอาการโรคเอดส์

    โรคเอดส์ไม่สามารถให้หายขาด แต่มีวิธีที่ช่วยลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ด้วยยาต้านไวรัส โดยยาต้านไวรัสที่คุณหมอกำหนดให้ผู้ป่วยใช้อาจพิจารณาตามอาการของแต่ละบุคคล ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • กลุ่มยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs) เช่น เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) ริวพิไวรีน (Rilpivirine) โดราไวรีน (Doravirine) เพื่อช่วยลดปริมาณของเชื้อไวรัสเอชไอวี และลดโอกาสที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • กลุ่มยาเอ็นเอาร์ทีแอลเอส (NRTIs) เช่น เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) ลามิวูดีน (Lamivudine) ไซโดวูดีน (Zidovudine) อบาคาเวียร์ (Abacavir) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เพื่อช่วยลดปริมาณของเชื้อไวรัสเอชไอวี ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอดส์และลดความเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
  • สารอินทีเกรส (Integrase) เช่น เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เพื่อช่วยลดปริมาณของเชื้อไวรัสเอชไอวี ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • สารยับยั้งป้องกันเชื้อไวรัสเข้ามาในเซลล์เม็ดเลือดขาว เช่น มาราวิร๊อค (Maraviroc) เอ็นฟูเวอร์ไทด์ (Enfuvirtide) เพื่อช่วยบรรเทาอาการจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและลดปริมาณไวรัส ที่นำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนและระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • สารยับยั้งโปรตีเอสเอชไอวี เช่น อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) ดารูนาเวียร์ (Darunavir) เพื่อช่วยควบคุมการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น
  • วิธีป้องกันอาการโรคเอดส์

    วิธีป้องกันอาการโรคเอดส์ อาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ควรมีคู่นอนหลายคน เพราะอาจเสี่ยงได้รับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อเอชไอวี รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น หูด เริม ซิฟิลิส หนองในแท้และหนองในเทียม
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากเชื้อเอชไอวีสามารถแพร่กระจายผ่านทางเลือดได้
  • สังเกตอาการของการติดเชื้อเอชไอวี และเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อสัมพันธ์มาก่อนและสตรีตั้งครรภ์
  • ใช้ยาเพ็พ (PEP- Post-Exposure Prophylaxis) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสฉุกเฉินสำหรับผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องใช้ยาเพ็พภายใน 72 ชั่วโมง และใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 28 วัน หรือตามที่คุณหมอกำหนด
  • ใช้ยาเพร็พ (PrEP-Pre-Exposure Prophylaxis) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ โดยควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจหาเชื้อก่อนใช้
  • ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หยุดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์อาจจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่คุณหมอกำหนดร่วมด้วยและไม่ควรหยุดยาเอง เพราะโรคเอดส์จำเป็นต้องได้รับยาตลอดชีวิต เพื่อลดจำนวนไวรัส นำไปสู่การบรรเทาอาการโรคเอดส์
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา