backup og meta

เจ็บลิ้น เพราะอะไร รักษาและป้องกันอย่างไร

เจ็บลิ้น เพราะอะไร รักษาและป้องกันอย่างไร

ลิ้น เป็นอวัยวะภายในปากที่ถูกปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อ หรือปุ่มรับรส หากเกิดอาการเจ็บลิ้น ก็อาจส่งผลให้รับประทานอาหารลำบาก และรู้สึกเจ็บปวดได้ ดังนั้น เมื่อพบว่ามีอาการเจ็บลิ้น ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุ และหาทางรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

[embed-health-tool-bmr]

สาเหตุที่ทำให้เจ็บลิ้น

สาเหตุที่ทำให้เจ็บลิ้น อาจมีดังต่อไปนี้

  • การกัดลิ้นตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

การเผลอกัดลิ้นขณะเคี้ยวอาหารอาจทำให้เกิดแผลบนลิ้น ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าแผลจะหายสนิท หรือบรรเทาอาการได้ด้วยการกลั้วปากด้วยน้ำเกลือผสมน้ำอุ่น นอกจากนี้ อาการชักก็อาจทำให้ผู้ป่วยเผลอกัดลิ้นตัวเอง จนเป็นแผลฉีกขาด ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างเหมาะสม

  • ร้อนใน หรือแผลเปื่อยในปาก

ร้อนในเป็นแผลที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งในช่องปาก รวมถึงบนลิ้น มีลักษณะเป็นจุดวงกลมตรงกลางสีขาว และมีขอบสีแดง ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบ และอาจส่งผลต่อการรับประทานอาหารและการพูด ร้อนในสามารถหายไปเองได้ภายใน 7-10 วัน แต่อาจเร่งบรรเทาอาการได้โดยการกลั้วปากด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำยาบ้วนปาก

  • เชื้อราในช่องปาก

เชื้อราแคนดิดาที่อยู่ภายในช่องปากและลำคอ หากเจริญเติบโตมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราในช่องปาก ซึ่งทำให้เกิดฝ้าในปาก และอาการเจ็บลิ้น สามารถพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

  • โรคเริม

เกิดจากการติดเชื้อจากไวรัสเริม (HSV) ที่อาจแพร่กระจายได้ผ่านทางการสัมผัส สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย รวมถึงลิ้น ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บลิ้น และแสบร้อนได้

  • ไลเคนพลานัส (Lichen planus)

ไลเคนพานัสในช่องปากมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน มักเกิดขึ้นกับกระพุ้งแก้ม และด้านข้างของลิ้น ทำให้บริเวณนั้นเป็นแผล รู้สึกเจ็บปวด

  • ฝ้าแดง

เป็นภาวะที่ทำให้เกิดรอยแดงภายในช่องปากทุกพื้นที่ รวมทั้งบริเวณด้านข้างลิ้น บางครั้งอาจไม่ส่งผลอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่รอยแดงนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนมะเร็งระยะลุกลามได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดโดยคุณหมอ เพื่อทราบผลที่แน่ชัด

  • เนื้องอกบนลิ้น

เนื้องอกบนลิ้นอาจปรากฏเป็นจุด ๆ ก้อนเนื้อ รอยแดง และรอยสีขาว เป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้เจ็บลิ้น เนื้องอกมีทั้งรูปแบบอันตราย และไม่อันตราย เพื่อคลายความกังวลใจ ควรเข้ารับการวินิจฉัยอย่างละเอียดจากคุณหมอ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม

อาการเจ็บลิ้น

อาการเจ็บลิ้นทั่วไปที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่อาจสังเกตได้จาก

  • ลิ้นบวมแดง เจ็บลิ้น รู้สึกแสบร้อนในลิ้น
  • ลิ้นเป็นแผล
  • การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวลิ้น และสีของลิ้นเป็นสีขาว สีแดง สีดำ
  • มีปัญหาในการรับประทานอาหาร กลืนอาหาร และการสื่อสาร

การรักษาและการป้องกันอาการเจ็บลิ้น

การรักษาอาการเจ็บลิ้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ส่งผลให้ลิ้นเจ็บ หรือลิ้นเป็นแผล คุณหมออาจให้ใช้ยาต้านเชื้อราในช่องปาก ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านเชื้อไวรัส และอาจแนะนำวิธีบรรเทาอาการอาการเจ็บลิ้น และป้องกันการเกิดแผลที่ลิ้นด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ฝึกสุขอนามัยรักษาความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธีด้วยแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม ใช้ยาสีฟันประกอบด้วยฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปากเป็นประจำ
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และอาจเพิ่มการรับประทานวิตามิน แร่ธาตุเสริม
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก เช่น อาการที่เป็นกรดโดยเฉพาะรสชาติเผ็ด เปรี้ยว และเค็ม อาหารที่แข็งเกินไป
  • รับประทานอาหาร หรือบดเคี้ยวอาหารอย่างช้า ๆ ป้องกันการกัดลิ้นเป็นแผลโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • หยุดสูบบุหรี่
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Glossitis. https://medlineplus.gov/ency/article/001053.htm. Accessed September 23, 2021

What to know about glossitis. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322135#outlook. Accessed September 23, 2021

Causes of a sore on the side of the tongue. https://www.medicalnewstoday.com/articles/sore-on-side-of-tongue#oral-lichen-planus. Accessed September 23, 2021

Why does my tongue hurt?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/319699#oral-thrush. Accessed September 23, 2021

Tongue Problems. https://www.webmd.com/oral-health/guide/tongue-problem-basics-sore-or-discolored-tongue-and-tongue-bumps. Accessed September 23, 2021

Picture of the Tongue. https://www.webmd.com/oral-health/picture-of-the-tongue . Accessed September 23, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/04/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เหงือกร่น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

แผลร้อนใน (Canker Sores)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 02/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา