backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เหงือกอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2022

เหงือกอักเสบ อาการ สาเหตุ การรักษา

เหงือกอักเสบ เป็นโรคเหงือกที่อาจพบได้บ่อย อาการที่เกิดขึ้นอาจทำให้เหงือกอักเสบ ระคายเคือง แดง และบวม เหงือกอักเสบต้องได้รับการดูแลและรักษาอย่างทันที ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่โรคเหงือกที่รุนแรงมากขึ้นอย่างโรคปริทันต์ รวมถึงอาจส่งผลให้สูญเสียฟันได้

คำจำกัดความ

เหงือกอักเสบ คืออะไร

เหงือกอักเสบ คือ การอักเสบของเหงือกซึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น อาจเกิดจากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ฟัน การสะสมของคราบจุลินทรีย์ คราบพลัค หรือมีเชื้อแบคทีเรียสะสมอยู่บนฟันเป็นจำนวนมาก เหงือกอักเสบอาจทำให้เหงือกบวมแดง ระคายเคือง เลือดออกง่าย รวมถึงอาจทำให้เกิดกลิ่นปาก หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาทันที อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นโรคปริทันต์ และอาจถึงขั้นสูญเสียฟันได้

อาการ

อาการของเหงือกอักเสบ

เหงือกอักเสบในระยะเริ่มแรกอาจไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ผู้ป่วยอาจแสดงอาการเมื่อเหงือกอักเสบขั้นรุนแรงแล้ว อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจเป็นสัญญาณว่าเหงือกอักเสบ มีดังนี้

  • เหงือกบวมแดง 
  • มีกลิ่นปาก หรือเริ่มรับรสไม่ดี
  • เลือดออกที่เหงือกระหว่างและหลังแปรงฟัน
  • เกิดช่องลึกระหว่างฟันและเหงือก
  • เหงือกร่น
  • ฟันหลุดหรือมีการโยก
  • ตำแหน่งฟันเปลี่ยนแปลงไปเมื่อกัดหรือต้องใส่ฟันปลอม

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากสังเกตเห็นสัญญาณและอาการเหงือกอักเสบ ให้นัดพบทันตแพทย์ทันที เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหงือกอักเสบก็อาจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการเหงือกอักเสบลุมลามมากขึ้นได้ด้วย

สาเหตุ

สาเหตุของเหงือกอักเสบ

สาเหตุหลักที่อาจทำให้เหงือกอักเสบเกิดจากคราบพลัค นอกจากนี้ เหงือกอักเสบยังอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้

  • สุขอนามัยในช่องปากไม่ดี เช่น การไม่แปรงฟัน การไม่ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน อาจทำให้เหงือกอักเสบลุกลามได้ง่ายขึ้น
  • การเจ็บป่วยอาจส่งผลต่อสภาพเหงือก ซึ่งอาจรวมถึงโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง การติดเชื้อเอชไอวีที่อาจรบกวนระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานก็อาจมีความเสี่ยงสูงในการเกิดการติดเชื้อจนทำให้เหงือกอักเสบ เป็นโรคปริทันต์ และฟันผุ เนื่องจากโรคเบาหวานอาจส่งผลต่อการใช้และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ยาอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก เนื่องจากยาบางชนิดอาจลดปริมาณของน้ำลาย ซึ่งอาจมีผลในการป้องกันฟันและเหงือก เช่น ยากันชัก เฟนิโทอิน (Phenytoin) และยาต้านอาการเจ็บหน้าอก เช่น ไนเฟดิพีน (Nifedipine) อาจทำให้เนื้อเยื่อเหงือกเติบโตผิดปกติ 
  • ประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคทางทันตกรรม อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เหงือกอักเสบลุกลามได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ วัยแรกรุ่น มีประจำเดือน และวัยหมดประจำเดือน อาจทำให้เหงือกไวต่อความรู้สึกมากขึ้น จนอาจทำให้เหงือกอักเสบลุกลามได้ง่ายขึ้น
  • การสูบบุหรี่ อาจทำให้เกิดคราบพลัค ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียและเศษอาหาร หากคราบพลัคเกาะอยู่บนฟันและเหงือกเป็นเวลานาน จนแข็งตัวกลายเป็นหินปูน อาจทำให้เหงือกรอบฟันเกิดการระคายเคือง ซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุของเหงือกอักเสบ 

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเหงือกอักเสบ

หากการวินิจฉัยอาการเหงือกอักเสบได้รวดเร็ว และรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่เหมาะสม อาจทำให้อาการดีขึ้นได้ โดยในระหว่างการตรวจฟัน ทันตแพทย์อาจจะตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ร่วมด้วย

  • ภาวะเลือดออกตามไรฟัน 
  • อาการบวมของเหงือก 
  • การเคลื่อนของฟัน
  • การจัดตำแหน่งฟันที่เหมาะสม
  • ช่องว่างระหว่างฟัน ยิ่งช่องว่างมากและลึกมากเท่าไหร่ ก็อาจทำให้อาการอักเสบรุนแรงมากขึ้น
  • กระดูกขากรรไกร เพื่อช่วยตรวจจับการสลายของกระดูกรอบ ๆ ฟัน

การรักษาเหงือกอักเสบ

การรักษาเหงือกอักเสบอาจเป็นการรักษาสุขอนามัยในช่องปากให้ดี และบางครั้งอาจเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์เพิ่มเติม ดังนี้

  • ทันตแพทย์อาจแนะนำให้แก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อช่องปาก เช่น ฟันเรียงกันไม่เป็นระเบียบ อุปกรณ์ครอบฟันหลวม เพราะอาจทำให้เหงือกระคายเคืองและขจัดคราบพลัคได้ยากขึ้นในระหว่างการดูแลช่องปากในแต่ละวัน และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหงือกอักเสบ
  • การขูดหินปูนและเกลารากฟัน (Root Planing) การขูดหินปูนอาจขจัดคราบหินปูนและแบคทีเรียออกจากผิวฟันและใต้เหงือก ส่วนการเกลารากฟันอาจช่วยขจัดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการอักเสบ ทั้งยังอาจทำให้พื้นผิวของรากฟันเรียบ ซึ่งอาจช่วยในการยับยั้งการสะสมของหินปูนและแบคทีเรียเพิ่มเติม ขั้นตอนการขูดหินปูนและเกลารากฟัน อาจทำได้โดยใช้เครื่องมือ เช่น เลเซอร์ อุปกรณ์อัลตราโซนิก
  • รักษาสุขอนามัยในช่องปากที่ดีด้วยตัวเอง หลังจากเข้ารับการขูดหินปูนและเกลารากฟัน อาจทำให้เหงือกอักเสบดีขึ้นและอาการต่าง ๆ อาจหายไป นอกจากนี้ ทันตแพทย์ยังอาจช่วยวางแผนในการรักษาสุขอนามัยในช่องปากด้วยตัวเอง กำหนดการตรวจสุขภาพฟัน และนัดหมายในการเข้ารับการขูดหินปูนและเกลารากฟัน

หากรักษาสุขอนามัยในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้เนื้อเยื่อเหงือกกลับมาสุขภาพดีและเป็นสีชมพู ภายในไม่กี่วัน หรืออาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือเหงือกอักเสบ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือเหงือกอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

  • เข้าพบทัตนแพทย์เป็นประจำ อย่างน้อยทุก 6-12 เดือน เพื่อทำความสะอาดฟันและช่องปากอย่างถูกสุขลักษณะ หากมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเหงือกอักเสบ เช่น ปากแห้ง การใช้ยาบางชนิด การสูบบุหรี่ อาจต้องเข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดฟันและช่องปากบ่อยขึ้น 
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง 
  • รักษาสุขอนามัยช่องปากให้ดี คือ การแปรงฟันเป็นเวลา 2 นาที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนเข้านอน อาจใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ก่อนเริ่มการแปรงฟัน เพราะไหมขัดฟันอาจช่วยทำให้ขจัดเศษอาหารและแบคทีเรียที่อาจอยู่ตามซอกฟัน ส่งผลให้ทำความสะอาดเหงือกและฟันได้ง่ายขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา