backup og meta

ยาหยอดตา ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/09/2021

    ยาหยอดตา ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

    ยาหยอดตา เป็นสารละลายที่นำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในดวงตา เช่น ใช้เพิ่มความชุ่มชื้นเมื่อตาแห้ง บรรเทาอาการเจ็บตา แสบตาหลังจากการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาหยอดตาให้ตรงตามจุดประสงค์และคำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยของดวงตา

    ยาหยอดตา ใช้เพื่ออะไร

    ยาหยอดตา อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

    • ตาแห้ง

    เป็นภาวะที่ทำให้ตาแดง แสบตา การมองเห็นเปลี่ยนแปลง อาจเกิดจากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาไม่เพียงพอ พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น เพราะร่างกายอาจผลิตน้ำตาได้น้อยลง หรือน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาระเหยเร็วเกินไป เป็นต้น

    • โรคต้อหิน

    โรคต้อหินมักเกิดจากความดันและของเหลวในดวงตาเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทตาเสียหาย และสูญเสียการมองเห็นได้ การใช้ยาหยอดตาอาจช่วยลดปริมาณของเหลว หรือขับของเหลวออกจากดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่มีความดันในตาสูงเสี่ยงเป็นต้อหิน

    • การติดเชื้อที่ตา

    การติดเชื้อที่ตาอาจเกิดจากไวรัส ส่งผลให้เจ็บบริเวณพื้นผิวดวงตา หรือบริเวณเปลือกตา และทำให้กระจกตาอักเสบได้ การรักษาด้วยการใช้ยาหยอดตาอาจช่วยต้านไวรัส และป้องกันความเสียหายต่อดวงตาที่เกิดขึ้น

    • กระจกตาติดเชื้อ

    ภาวะกระจกตาติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการสวมใส่คอนแทคเลนส์อย่างไม่เหมาะสม เช่น คอนแทคเลนส์ไม่สะอาด สวมใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป จนนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อปรสิต หากมีอาการในระดับเบา ยาหยอดตาบางชนิดที่คุณหมอแนะนำอาจช่วยต้านเชื้อดังกล่าวได้ แต่สำหรับอาการติดเชื้อรุนแรง อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือการผ่าตัด

    • หลังการผ่าตัดตา

    หลังเข้ารับการผ่าตัดตา เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การทำเลสิก คุณหมออาจให้ผู้ป่วยใช้ยาหยอดตาด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อในกรณีที่ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา

    ประเภทของยาหยอดตา

    ประเภทของยาหยอดตา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

    1. น้ำตาเทียม ส่วนใหญ่น้ำตาเทียมอาจใช้เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาเมื่อตาแห้ง โดยน้ำตาเทียมมีให้เลือกใช้ 2 รูปแบบ คือ

    • น้ำตาเทียมที่มีส่วนประกอบของสารกัดบูด เพราะอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่อาจส่งผลก่อให้เกิดการระคายเคือง
    • น้ำตาเทียมที่ปราศจากสารกันบูด ซึ่งอาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาตาแห้งในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง

    2. ยาหยอดตาบรรเทาอาการจากสารก่อภูมิแพ้ เป็นยาหยอดตาที่อาจช่วยบรรเทาอาการคันในดวงตา อาการน้ำตาไหล และตาแดง จากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ เชื้อรา

    3. ยาหยอดตารักษาตาแดง หากมีอาการตาแดงควรใช้ยาหยอดตาประเภทนี้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือตาแดงกว่าเดิมได้ เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน

    วิธีใช้ยาหยอดตา

    วิธีใช้ยาหยอดตาให้ปลอดภัยต่อดวงตา มี 5 ขั้นตอน ดังนี้

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เนื่องจากปัญหาสุขภาพตาของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ชนิดของยาหยอดตา และปริมาณการใช้ยา จึงอาจแตกต่างกันตามไปด้วย ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตา ประเมินปัญหาดวงตาที่เกิดขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • การเตรียมความพร้อมก่อนหยอดตา รักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณดวงตา หรือหยอดตา หากสวมใส่คอนแทคเลนส์ ควรถอดออกก่อนหยอดตา และเขย่าขวดยาหยอดตาเบา ๆ ก่อนใช้งาน
  • หยอดตา วิธีหยอดตาที่ถูกต้อง คือ เงยหน้าเล็กน้อย ตามองเพดาน ใช้นิ้วมือดึงเปลือกตาล่างลงมาให้เป็นกระเปาะ จากนั้นหยดยาหยอดตาลงไป 1-2 หยด ขึ้นอยู่กับคำแนะนำในการใช้ยา ขั้นตอนนี้ควรระวังไม่ให้ปลายขวดสัมผัสกับเปลือกตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันสารปนเปื้อนอื่น ๆ เติบโตในยาหยอดตา
  • หลับตาค้างไว้ อย่ากระพริบตา เมื่อหยดยาหยอดตาแล้วให้หลับตาค้างไว้ 1-2 นาทีค่อยลืมตา เพื่อให้ยาหยอดตาซึมเข้าสู่ดวงตา
  • ล้างมือให้สะอาด หลังการหยอดตาเสร็จควรล้างมือให้สะอาดอีกครั้งด้วยสบู่ ก่อนสัมผัสใบหน้า หรือจับวัตถุอื่น ๆ หากต้องการสวมใส่คอนแทคเลนส์ ควรรออย่างน้อย 10 นาทีหลังหยอดตาเสร็จ
  • ผลข้างเคียงของ ยาหยอดตา

    ยาหยอดตาอาจส่งผลให้รู้สึกแสบตา ตาแดง ตาพร่ามัว ปวดตา เคืองตา การมองเห็นเปลี่ยนแปลง หากอาการดังกล่าวแย่ลง หรือคงอยู่เป็นเวลานาน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอทันที นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยาหยอดตาหากต้องทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัว เช่น ขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เพราะอาจมองเห็นไม่ชัด จนเกิดอันตรายได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา