ตาพร่า เป็นภาวะสายตาที่พบได้บ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น สายตาสั้น การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป ทำให้ตาเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ไม่ชัดเจน เป็นภาพเบลอ การทราบสาเหตุ และการรักษาที่เหมาะสม อาจช่วยให้รับมือกับอาการตาพร่าได้อย่างถูกต้อง
คำจำกัดความ
ตาพร่า คืออะไร
ตาพร่า หรือ ตามัว คือภาวะที่การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างเปลี่ยนแปลง ทำให้มองวัตถุรอบตัวไม่ชัด โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง รวมถึงสภาวะจากโรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดในสมอง ไมเกรนที่ตา โรคหลอดเลือดแดงอักเสบ
อาการ
อาการตาพร่า
อาการตาพร่า สามารถสังเกตได้จากการมองเห็นไม่ชัดเจน มองเห็นวัตถุรอบตัวเป็นภาพซ้อน แต่หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการตาพร่า เช่น ปวดศีรษะกะทันหัน หน้าซีด หน้าชา พูดไม่ชัด สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ หมดสติ ควรพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคเรื้อรัง
สาเหตุ
สาเหตุตาพร่า
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาพร่า อาจมาจากปัญหาสุขภาพตาและโรคเรื้อรัง ดังนี้
- เรตินาหรือจอประสาทตาลอก เมื่อเรตินาหรือจอประสาทตาแยกออกจากกัน อาจทำลายเส้นประสาท และส่งผลให้ตาพร่ามัว
- จอประสาทตาเสื่อมตามอายุ เป็นโรคที่ส่งผลต่อเรตินาในดวงตา ทำให้การมองเห็นพร่ามัว พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
- ไมเกรนที่ตา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดได้นานถึง 30 นาที และอาจส่งผลให้ตาไวต่อแสงได้ด้วย
- โรคเบาหวาน เมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจสร้างความเสียหายแก่หลอดเลือดในเรตินา ที่เป็นส่วนสำคัญในการรับแสงของจุดภาพชัด
- โรคหลอดเลือดในสมอง อาการตาพร่าเป็นสัญญาณเตือนที่อาจบ่งบอกถึงโรคหลอดเลือดในสมอง โดยมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง
- โรคหลอดเลือดแดงอักเสบแบบไจแอนต์ (GCA) คือ การอักเสบของหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่อาจกระทบต่อการมองเห็น และอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงตาพร่า
ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการตาพร่าได้
- ตาล้า อาการตาล้าเนื่องจากใช้สายตาจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หนังสือ อาจทำให้การมองเห็นพร่ามัวได้ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- ม่านตาอักเสบ อาจเกิดจากโรคภูมิต้านทานตัวเอง หรือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ที่ส่งผลให้เจ็บตา และตาไวต่อแสง จนนำไปสู่อาการตาพร่า
- สายตาสั้น เป็นภาวะสายตาที่ทำให้มองวัตถุระยะไกลเบลอ พร่ามัว
- สายตายาว เป็นภาวะสายตาที่ตรงข้ามกับสายตาสั้น โดยสายตายาวอาจทำให้การมองเห็นสิ่งรอบตัวในระยะใกล้พร่ามัว
- จอประสาทตาเสื่อมตามอายุ เป็นโรคที่ส่งผลต่อเรตินา ทำให้การมองเห็นพร่ามัว พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
- โรคต้อหินมุมปิด คือ โรคต้อหินที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำในดวงตาถูกปิดกั้น ทำให้เกิดความดันภายในลูกตา ส่งผลต่อการมองเห็น
- อุบัติเหตุที่กระทบต่อดวงตาและศีรษะ หากได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะ อาจส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยตาพร่า
การวินิจฉัยตาพร่า คุณหมออาจสอบถามประวัติทางการแพทย์ เช่น โรคประจำตัว ประวัติทางสุขภาพตาของครอบครัว และอาการที่เกิดขึ้น ก่อนเริ่มทดสอบการมองเห็น วัดความดันในลูกตา ตรวจเรตินาหรือจอประสาทตา และอาจขอเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อนำไปตรวจว่ามีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดใดหรือไม่
การรักษาตาพร่า
การรักษาอาการตาพร่าอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แต่ในการรักษาเบื้องต้น คุณหมออาจให้สวมใส่แว่นสายตา ที่จะช่วยให้มองภาพได้คมชัด โฟกัสสิ่งรอบตัวได้ดี และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันตาพร่า
วิธีต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดอาการตาพร่าได้
- ลดระดับความเครียด และความวิตกกังวล เพื่อไม่ให้เกิดไมเกรน ที่อาจนำไปสู่การมองเห็นไม่ชัด
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อฟื้นฟูสายตาที่ถูกใช้งานหนักมาตลอดวัน
- ควรกำหนดเวลาพักสายตาจากสิ่งที่กำลังจ้องมองเป็นเวลา 10 นาที ทุก ๆ 50 นาที
- บริหารดวงตาด้วยการกลอกตาตามเข็มนาฬิกา หรือทวนเข็มนาฬิกาประมาณ 10 ครั้ง
- หากมีอาการตาล้า ควรประคบดวงตา หรือผ่อนคลายดวงตา