ปวดตา หมายถึงอาการเจ็บตา หรือระคายเคืองที่ดวงตาหรือรอบ ๆ ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สายตามากเกินไป และปัจจัยอื่น ๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบ การติดเชื้อในดวงตา การดูแลดวงตาจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีอาการปวดตาอย่างต่อเนื่อง ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดในทันที
คำจำกัดความ
ปวดตา คืออะไร
ปวดตา เป็นอาการเมื่อยล้าของดวงตาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้งานดวงตาอย่างหนัก เช่น มองหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน หรืออาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบ การติดเชื้อในดวงตา
โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดตามักจะไม่ส่งผลรุนแรง และอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว หากหยุดพักสายตาสักระยะอาการก็อาจบรรเทาลงได้ แต่หากมีอาการปวดตาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคอื่น ควรเข้ารับการตรวจดวงตาเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และทำการรักษาให้เร็วที่สุด
อาการ
อาการปวดตา
อาการปวดตา สามารถสังเกตได้จากสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้
- แสบตา เจ็บตา และคันตา
- ตาแดง ตาแห้ง หรือตาแฉะ
- น้ำตาไหล เนื่องจากต่อมน้ำตาอาจผลิตน้ำตาออกมา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของดวงตา
- ปวดศีรษะ คอ ไหล่ และหลัง อาจเป็นเพราะจากการนั่ง หรืออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ
- มองเห็นวัตถุสิ่งรอบตัวเป็นภาพซ้อน
- ตาไวต่อแสง
- ลืมตายากขึ้น
อาการปวดตาระดับรุนแรง ที่ควรเข้าพบคุณหมอ ได้แก่
- มีไข้ขึ้นสูง
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- อาเจียน
- เปลือกตาบวมแดง
- รูม่านตาไม่ตอบสนองต่อแสง และตาไวต่อแสงผิดปกติ
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง หรือสูญเสียการมองเห็นกะทันหัน
- เห็นรัศมีรอบดวงไฟ
- ลืมตาไม่ขึ้น
- มีเลือดออกจากดวงตา
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้ปวดตา
ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น การนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ เนื่องจากการสนใจในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจอเป็นเวลานาน อาจทำให้กะพริบตาได้น้อยลง ทำให้ดวงตาแห้ง ขาดความชุ่มชื้น รวมถึงแสงบนหน้าจอที่สว่างจ้าจนเกินไป ก็อาจส่งผลให้รู้สึกปวดตาได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้อาการปวดตา อาจมาจากปัญหาเกี่ยวข้องกับภาวะต่าง ๆ ได้แก่
- สิ่งแปลกปลอมเข้าตา หากมีสิ่งสกปรกเข้าดวงตา อาจทำให้ดวงตาระคายเคือง เสี่ยงต่อการเกิดรอยบนกระจกตาได้
- เยื่อบุตาอักเสบ จากอาการแพ้ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ส่งผลให้เส้นเลือดเยื่อบุตาบวม สังเกตได้จากบริเวณตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง
- การติดเชื้อในกระจกตา อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ที่ส่งผลให้กระจกตาอักเสบ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ถอดคอนแทคเลนส์ อาจเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้มากขึ้น
- เส้นประสาทตาอักเสบ การอักเสบของเส้นประสาทตา อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง หรือสูญเสียการมองเห็นได้
- โรคต้อหิน อาจเกิดจากภายในดวงตามีระดับความดันสูง หรือของเหลวสะสมที่กระทบต่อเส้นประสาทตา หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดตา
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดตา ได้แก่
- อ่านหนังสือโดยไม่หยุดพักสายตา
- พื้นที่ที่มีแสงจ้ามากเกินไป
- ภาวะเครียด เหนื่อยล้า
- การขับรถเดินทางไกล เพราะอาจต้องใช้สายตาในการมองทางเป็นเวลานาน
- ดวงตาสัมผัสกับอากาศแห้งจากพัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อน
- โรคตาอื่น ๆ เช่น ตาแห้ง ต้อหิน ปลอกประสาทตาอักเสบ การติดเชื้อที่รุนแรง
การวินิจฉัย และการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการปวดตา
คุณหมออาจสอบถามปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดตา เช่น อาการปวดตาเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ เกิดขึ้นกะทันหันหรือไม่ เคยใส่คอนแทคเลนส์หรือเปล่า และอาจตรวจสุขภาพตาโดยรวม พร้อมทดสอบการมองเห็นเบื้องต้น
การรักษาอาการปวดตา
การรักษาอาการปวดตาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ผู้ป่วยเป็น หรือปัจจัยสภาวะแวดล้อม แต่สำหรับพฤติกรรมการใช้สายตามากเกินไปจนเกิดอาการปวดตา อาจบริหารดวงตาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
-
กะพริบตา
การกระพริบตาถี่ ๆ อาจช่วยกระตุ้นให้ดวงตาผลิตน้ำตาเพิ่มความชุ่มชื้น และบรรเทาอาการแสบร้อนในตา หรือเจ็บตาจากอาการตาแห้ง
-
การกลอกตา
การกลอกตาแบบหมุนรอบดวงตา เป็นการฝึกสายตาที่อาจช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อดวงตา โดยกลอกตาเบา ๆ ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แล้วจึงค่อยกลอกตาย้อนกลับไปอีกทาง ซึ่งสามารถทำได้ 3-5 ครั้ง ต่อชั่วโมง
- เปลี่ยนจุดโฟกัส
เมื่อจ้องมองทิศทางเดียวเป็นเวลานาน อาจทำให้เริ่มมีอาการปวดตา และเจ็บตาได้ ดังนั้นจึงควรฝึกการเปลี่ยนจุดโฟกัสดวงตา ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ คือ
- นำนิ้วมือมาวางบริเวณหน้าจมูก แล้วใช้สายตามองตามนิ้ว โดยที่นิ้วค่อย ๆ เลื่อนออกห่างจากใบหน้าจนสุดแขน
- เมื่อยืดจนสุดแขนแล้วให้ใช้สายตามองผ่านนิ้วไปยังวัตถุที่ไกลออกไปสักครู่ แลวมองกลับมาที่นิ้วดังเดิม
- เลื่อนนิ้วกลับมาใกล้ใบหน้าอีกครั้ง โดยที่สายตายังคงมองนิ้วอยู่ตลอด จนกว่านิ้วจะแตะที่ปลายจมูก จากนั้นให้มองไปยังวัตถุที่อยู่อีกด้านสักพัก และกลับมามองนิ้วอีกครั้งดังเดิม ควรทำ 3 ขั้นตอน ประมาณ 3 ครั้ง ก็อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดตาได้
- นำมือปิดตา เป็นวิธีง่าย ๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้าดวงตา โดยเริ่มจากการใช้ฝ่ามือปิดตา ทั้งสองข้างเบา ๆ ไม่กดทับดวงตา เป็นเวลา 30-60 วินาที
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการปวดตา
หากไม่อยากเผชิญกับอาการปวดตา ตาล้า ควรดูแลดวงตาด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- เลือกรับประทานอาการเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่ประกอบด้วยโอเมก้า 3 ลูทีน สังกะสี วิตามินซี และวิตามินอี เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ ไข่ ถั่ว แซลมอน
- พักสายตาจากการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นเวลานาน ป้องกันอาการตาแห้ง ตาพร่า
- สวมใส่แว่นกันแดด เพื่อป้องกันรังสียูวีที่อาจทำร้ายดวงตา
- เข้ารับการตรวจสุขภาพตา เช็กสายตาจากจักษุแพทย์สม่ำเสมอ