backup og meta

ลูทีนและซีแซนทีน สองคู่หูช่วยบำรุงสายตา ที่คุณควรหามาบริโภคให้ไว

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ลูทีนและซีแซนทีน สองคู่หูช่วยบำรุงสายตา ที่คุณควรหามาบริโภคให้ไว

    ดวงตาและสายตาของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ยิ่งหากมีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เช่น การใช้สายตามาก จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์และหน้าจอมือถือนานๆ ชอบเดินกลางแจ้งโดยไม่สวมหมวกหรือแว่นกันแดด ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพตาของเราเสื่อมถอยได้เร็วยิ่งขึ้น หากใครไม่อยากให้สุขภาพตามีปัญหา เราแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นให้ดี และหันมาบริโภค ลูทีนและซีแซนทีน มากขึ้น เพราะสองคู่หูที่ชื่ออาจไม่คุ้นหูนี้ ช่วยบำรุงสายตาและสุขภาพตาของเราได้เป็นอย่างดีเลย

    ทำความรู้จักกับ ลูทีนและซีแซนทีน

    ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) เป็นสารพฤกษเคมีทรงพลังที่พบมากในผักและผลไม้สีส้ม เหลือง แดง เขียว โดยปกติแล้ว ลูทีนและซีแซนทีนในพืชจะช่วยดูดซับพลังงานแสงส่วนเกิน ทำให้พืชไม่ถูกแสงแดดทำลายมากเกินไป แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะลูทีนและซีแซนทีนยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม แถมยังขึ้นชื่อเรื่องช่วยบำรุงสุขภาพตาด้วย และนอกจากจะพบมากในพืชแล้ว เรายังพบลูทีนและซีแซนทีนได้ในจอประสาทตา (Retina) จุดศูนย์กลางหรือจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตา (Macula) และเลนส์ตาของเราด้วย

    อาหารอะไรบ้างที่มีลูทีนและซีแซนทีน

    อาหารที่อุดมไปด้วยลูทีนและซีแซนทีน ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม และผักผลไม้สีเขียว เหลือง ส้ม แดง อื่นๆ เช่น ผักคะน้า ผักเคล (Kale) หรือคะน้าใบหยัก ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักสวิสชาร์ด (Swiss chard) ผักกาดเขียวปลี (Mustard green) ข้าวโพด บร็อคโคลี พริกหวานสีส้ม แครอท ซูกินี (Zucchini) กีวี องุ่น ส้ม และนอกจากผักผลไม้ที่เรายกตัวอย่างมานี้ ในไข่แดง ก็มีลูทีนและซีแซนทีนเช่นกัน

    ลูทีนและซีแซนทีนดีต่อสุขภาพตายังไงบ้าง

    ลูทีนและซีแซนทีนทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องดวงตาของเราไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ ทั้งยังช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นคลื่นแสงพลังงานสูงในแสงแดด และแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่เป็นอันตรายต่อดวงตาได้ด้วย นอกจากนี้ ลูทีนและซีแซนทีนยังอาจช่วยรักษา ป้องกัน หรือบรรเทาสภาวะโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตาเหล่านี้ได้ด้วย

    • จอประสาทตาเสื่อมตามวัย (Age-related macular degeneration หรือ (AMD) การบริโภคลูทีนและซีแซนทีนจะช่วยป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัยที่อาจนำไปสู่ภาวะตาบอดได้
    • ต้อกระจก (Cataracts) ลูทีนและซีแซนทีนอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก ซึ่งเป็นภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัวมากขึ้นได้
    • เบาหวานขึ้นจอตา หรือเบาหวานเข้าจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) ผลการศึกษาวิจัยในสัตว์ที่เป็นโรคเบาหวานพบว่า อาหารเสริมลูทีนและซีแซนทีนช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชัน หรือภาวะไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้สุขภาพตาถูกทำลาย
    • จอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) จากข้อมูลงานวิจัยชิ้นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหนูทดลองที่มีปัญหาจอประสาทตาลอก พบว่า หนูที่ได้รับสารลูทีนมีเซลล์จอประสาทตาตายน้อยกว่าหนูที่ได้รับน้ำมันข้าวโพดถึง 54%
    • ม่านตาอักเสบ (Uveitis) ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การบริโภคลูทีนและซีแซนทีนอาจช่วยลดการอักเสบของม่านตาได้

    ควรกิน ลูทีนและซีแซนทีน วันละเท่าไหร่

    ในปัจจุบันยังไม่มีปริมาณที่แนะนำในการบริโภคลูทีนและซีแซนทีนจากพืชผักผลไม้ หรืออาหารตามปกติ แต่ผลจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า คนที่สูบบุหรี่อาจต้องการลูทีนและซีแซนทีนมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าร่างกายจะมีระดับแคโรทีนอยด์ต่ำกว่า

    อย่างไรก็ดี หากคุณเลือกกินลูทีนและซีแซนทีนในรูปแบบอาหารเสริม ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันแนะนำว่า คุณไม่ควรบริโภคอาหารเสริมลูทีนเกินวันละ 10 มิลลิกรัม ส่วนอาหารเสริมซีแซนทีนไม่ควรเกินวันละ 2 มิลลิกรัม

    ความเสี่ยงที่ควรรู้ และผู้ที่ควรบริโภคอย่างระวัง

    โดยปกติแล้ว คนส่วนใหญ่สามารถบริโภคลูทีนและซีแซนทีนทั้งในอาหารและในรูปแบบอาหารเสริมได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ แต่หากคุณสังเกตเห็นว่าตัวเองมีอาการตัวเหลือง หรือผิวเหลือง ที่เรียกว่า ภาวะเหลืองจากแคโรทีน (Carotenemia) นั่นอาจหมายถึงคุณบริโภคแคโรทีนอยด์ อย่างลูทีน ซีแซนทีน รวมถึงเบต้าแคโรทีนมากเกินไป ซึ่งภาวะนี้จะยิ่งเกิดได้ง่ายขึ้น หากคุณบริโภคลูทีนและซีแซนทีนในรูปแบบอาหารเสริม

    และสำหรับผู้ที่มีสภาวะดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภค ลูทีนและซีแซนทีน

  • โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับปอดและอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ ตับอ่อน เป็นต้น ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจดูดซึมแคโรทีนอยด์บางชนิดจากอาหารได้ไม่ดี จนมีระดับลูทีนและซีแซนทีนในเลือดต่ำ และอาจต้องบริโภคลูทีนและซีแซนทีนมากกว่าคนทั่วไป เพื่อให้ร่างกายได้รับสารเหล่านี้อย่างเพียงพอ
  • โรคมะเร็งผิวหนัง ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า ระดับลูทีนและซีแซนทีนในเลือดทีเพิ่มขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังในคนกลุ่มเสี่ยง หรือเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา