backup og meta

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการมีเพศสัมพันธ์ อาการและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/02/2023

    กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการมีเพศสัมพันธ์ อาการและการรักษา

    กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการมี เพศ สัมพันธ์ อาจสังเกตได้จากอาการแสบระหว่างปัสสาวะ ปวดท้องน้อย และปัสสาวะลำบาก ซึ่งควรเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไต อุ้งเชิงกรานอักเสบ และปัสสาวะเป็นเลือดได้

    กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จากการมี เพศ สัมพันธ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร

    กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น อีโคไล (E. coli) ในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย อีกทั้งยังพบได้บ่อยในผู้หญิงเนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชาย ในกรณีที่ไม่รุนแรงมักจะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม กระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ห่วงหรือไดอะเฟรมคุมกำเนิด การใช้สารฆ่าอสุจิ (Spermicide) การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน การสวนล้างช่องคลอด

    อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการมีเพศสัมพันธ์

    อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการมีเพศสัมพันธ์ อาจสังเกตได้ดังนี้

    • ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่สุด ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย
    • รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • ปัสสาวะมีสีขุ่นและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
    • ปวดอุ้งเชิงกราน

    ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาทันทีหากมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะปนเลือด หรือมีอาการข้างต้นนานกว่า 3 วัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ไต ช่องคลอดอักเสบรุนแรง

    การรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการมีเพศสัมพันธ์

    วิธีการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการมีเพศสัมพันธ์ มีดังต่อไปนี้

  • สำหรับกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียครั้งแรก คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยาซัลฟาเมทอกซาโซล ไตรเมโทรพริม (Sulfamethoxazole Trimethoprim) ยาฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin) ยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) ยาเซฟาเลกซิน  (Cephalexin) ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ยากลุ่มควิโนโลน (Ciprofloxacin) โดยอาจให้รับประทานเป็นเวลา 1-3 วัน หรือนานกว่านั้น ตามดุลพินิจของคุณหมอ
  • สำหรับกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียบ่อยครั้ง คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะในขนาดต่ำต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 เดือน หรือนานกว่านั้น ตามดุลพินิจของคุณหมอ
  • สำหรับกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระดับรุนแรง คุณหมออาจให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ
  • นอกจากนี้ หากมีอาการปวดท้องเกร็ง มีไข้สูง สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล หรือนำถุงน้ำร้อนมาประคบเพื่อบรรเทาอาการปวด และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด น้ำอัดลม น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง และทำให้รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะได้

    การป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการมีเพศสัมพันธ์

    การป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการมีเพศสัมพันธ์ อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส เริม หูดหงอนไก่ หนองใน
    • ควรปัสสาวะทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์เพื่อช่วยขับเชื้อแบคทีเรียออกผ่านทางปัสสาวะ
    • ทำความสะอาดอวัยวะเพศให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ การสวนล้างช่องคลอด และการขัดถูรุนแรงขณะทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแผล ที่ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งควรซับอวัยวะเพศให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือทิชชู โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อลดการติดเชื้อจากทวารหนัก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา