backup og meta

กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง เกิดจากอะไร กินยาคุมฉุกเฉินยังไงให้ได้ผล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง เกิดจากอะไร กินยาคุมฉุกเฉินยังไงให้ได้ผล

    ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดอย่างเร่งด่วนเนื่องจากมีเหตุจำเป็น เช่น ถุงยางหลุดหรือแตกขณะหลั่งน้ำอสุจิ ลืมกินยาคุมกำเนิด หลั่งในโดยไม่ตั้งใจ อาจสนใจกินยาคุมฉุกเฉิน และสงสัยว่า กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง เป็นไปได้หรือไม่ และมีสาเหตุมาจากอะไร โดยปกติแล้ว ยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ 75-85% เมื่อรับประทานภายใน 72-150 ชั่วโมง (3-5 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง อาจเกิดจากกินยาช้าเกินไป ยาคุมฉุกเฉินมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคอื่น ๆ มีการตกไข่เกิดขึ้นก่อนกินยา เป็นต้น ทางที่ดี ผู้ที่ไม่ประสงค์จะมีลูกควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุมกำเนิด ทั้งยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย

    กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง เกิดขึ้นได้หรือไม่

    ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยาเม็ดที่รับประทานเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือคิดว่าการคุมกำเนิดที่ใช้ไม่ได้ผล โดยทั่วไป หากใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินภายในเวลาไม่ 72-150 ชั่วโมงหลังหลั่งในช่องคลอด ก็สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกับการกินยาคุมกำเนิดตามปกติ ทั้งนี้ ยิ่งกินยาคุมฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งช่วยให้ยามีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์มากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีก็อาจ กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง ได้เช่นกัน เนื่องจากอาจกินยาคุมฉุกเฉินไม่ถูกวิธีหรือกินยาช้าเกินไปจนตัวยาไม่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งผสมกันของไข่และอสุจิได้ทันเวลา แต่การกินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้องก็เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก

    กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง เกิดจากอะไร

    การ กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • กินยาคุมฉุกเฉินช้าเกินไป (เกิน 72-150 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์) ทำให้ยาไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • เกิดการตกไข่ก่อนกินยาคุมฉุกเฉิน ทำให้ยาไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้ทัน
  • ยาคุมฉุกเฉินมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคอื่น ๆ ที่ใช้ในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ยาต้านเชื้อรากริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ยากันชักโทพิราเมท (Topiramate) เฟนิโทอิน (Phenytoin) และออกคาร์บาซีปีน (Oxcarbazepine) กลุ่มยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates) ที่ใช้ระงับประสาท ยาปฏิชีวนะไรแฟมพิซิน (Rifampicin) จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินลดลงและอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้ หากรับประทานยาใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้เภสัชกรทราบหากต้องการกินยาคุมฉุกเฉิน
  • ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าเกณฑ์อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินลดลง
  • วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน ที่ถูกต้อง

    วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน ที่ถูกต้อง อาจทำได้ดังนี้

    • ปฏิบัติตามคำแนะนำบนผลิตภัณฑ์หรือตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
    • ควรรีบกินยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดภายใน 72-150 ชั่วโมง (3-5 วัน) หลังมีเพศสัมพันธ์ หากรับประทานล่าช้าเกิน 96 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้ยาไม่ได้ผล
    • ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันหลังกินยาคุมฉุกเฉิน และคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น สวมถุงยางอนามัย เพราะยาคุมจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อกินยาหลังการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น
    • ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่ โรคเริม จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะหากตัวเองหรือคู่นอนมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย
    • หากอาเจียนออกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินยาคุมฉุกเฉิน อาจทำให้ร่างกายดูดซึมตัวยาได้ไม่เต็มที่ และลดประสิทธิภาพของยาได้ แนะนำให้กินยาคุมฉุกเฉินซ้ำอีกครั้งพร้อมยาแก้อาเจียน

    ยาคุมฉุกเฉินเหมาะกับใคร

    ยาคุมฉุกเฉินควรใช้ในกรณีที่จำเป็นดังตัวอย่างต่อไปนี้เท่านั้น

  • ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยหรือวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด
  • ลืมยากินคุมกำเนิดตามกำหนดปกติ
  • ใช้วิธีการหลั่งนอกแต่คู่นอนไม่สามารถดึงองคชาตออกจากช่องคลอดได้ทันเวลา
  • ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดโดยไม่ป้องกัน
  • ถุงยางอนามัยที่ใช้หลุดหรือแตก
  • ทั้งนี้ ควรกินยาคุมฉุกเฉินในกรณีฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้น ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป หรือใช้ในระยะยาว เนื่องจากยาคุมชนิดนี้มีผลข้างเคียงรุนแรงกว่ายาคุมปกติ ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดน้อยกว่ายาคุมกำเนิดแบบทั่วไปและการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ห่วงอนามัย หรือการใส่ถุงยางอนามัยที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย

    ผลข้างเคียงของการกินยาคุมฉุกเฉิน

    ผลข้างเคียงที่เกิดจากการกินยาคุมฉุกเฉิน อาจมีดังนี้

    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนขาดไปเป็นเดือน ประจำเดือนมาเร็วหรือมาช้ากว่าปกติ
    • มีจุดเลือดออกจากช่องคลอด
    • คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่แปรปรวน
    • อ่อนเพลีย
    • ปวดศีรษะ วิงเวียน
    • ปวดท้อง เจ็บหน้าอก

    ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงจากการกินยาคุมฉุกเฉินมักไม่รุนแรง แต่หากสังเกตว่าอาการรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบคุณหมอ ทั้งนี้ อาการประจำเดือนในรอบต่อไปไม่มาตามปกติ ร่วมกับมีจุดเลือดออก อาจหมายถึงยาคุมฉุกเฉินใช้ไม่ได้ผล และเกิดการตั้งครรภ์ เนื่องจากประจำเดือนที่ขาดไปและจุดเลือดออกกะปริบกะปรอยในลักษณะดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณว่าตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก จึงทำให้หลอดเลือดฝอยในบริเวณนั้นแตก จนมีเลือดปริมาณเล็กน้อยไหลออกจากช่องคลอด

    หากกินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนไม่มาตามปกติร่วมกับมีจุดเลือด อาจใช้ทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์หลังจากประจำเดือนไม่มาประมาณ 7 วัน หากแน่ใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

    ผลข้างเคียงของการกินยาคุมฉุกเฉินบ่อยเกินไป

    โดยทั่วไป ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินซ้ำ เนื่องจากไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคุมกำเนิดแต่อย่างใด เว้นแต่ในกรณีที่อาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินยาคุมฉุกเฉิน ถึงควรกินยาคุมฉุกเฉินซ้ำ

    นอกจากนี้ ยังไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินบ่อยเกินไปหรือกินแทนยาคุมฉุกเฉินชนิดรายเดือน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ผลน้อย ทั้งยังอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่งผลให้คำนวณวันประจำเดือนมาได้ยากขึ้น

    อีกทั้งการกินยาคุมฉุกเฉินที่มีเลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการท้องนอกมดลูกได้ เนื่องจากยาออกฤทธิ์ยับยั้งการนำส่งไข่จึงอาจทำให้ตัวอ่อนฝังตัวในท่อนำไข่แทนที่จะเป็นผนังมดลูก จึงควรใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การกินยาคุมฉุกเฉินบ่อยไม่ได้ส่งผลให้มีบุตรยากในอนาคต แต่อาจทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น เนื่องจากยิ่งกินก็ยิ่งลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา