ยาคุมกำเนิด ส่วนใหญ่ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์หากรับประทานอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการใช้ยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[embed-health-tool-ovulation]
ยาคุมกำเนิดคืออะไร
ยาคุมกำเนิด คือ ยาป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมมีบุตร โดยมีทั้งในรูปแบบ 21 เม็ด 28 เม็ด และยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด และ 2 เม็ด ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อยับยั้งกระบวนการตกไข่ ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น หากรับประทานอย่างถูกวิธีอาจมีประสิทธิภาพในป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากถึง 99%
ประเภทของยาคุมกำเนิด
ประเภทของยาคุมกำเนิด มีดังนี้
ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive: – COC)
เป็นยาคุมชนิดเม็ดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ควรรับประทานในวันแรกที่ประจำเดือนมา หรือไม่เกิน 5 วันหลังจากนั้น โดยรับประทานตามลูกศรที่กำหนดไว้บนแผงยา ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมประกอบไปด้วยยาคุม 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- ยาคุมฮอร์โมนระดับเดียว (Monophasic pills) เป็นยาคุมกำเนิดที่พบบ่อยที่สุด ใน 1 แผง จะมีทั้งหมด 21 เม็ด ในแต่ละเม็ดจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินเท่ากัน โดยรับประทานวันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 21 วันติดต่อกัน เมื่อรับประทานจนหมดแผงควรหยุดรับประทานยาอีก 7 วัน ก่อนเริ่มแผงใหม่
- ยาคุมชนิดฮอร์โมน 2 ระดับ (Phasic pills) ยาคุมชนิดนี้อาจมีสีเม็ดยาแตกต่างกัน 2-3 ส่วน ใน 1 แผง โดยแต่ละส่วนมีฮอร์โมนที่แตกต่างกัน 2 ระดับ โดยรับประทานวันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 21 วันติดต่อกัน ตามลูกศรบนแผง ไม่ควรข้าม เนื่องจากฮอร์โมนแต่ละเม็ดไม่เท่ากัน เมื่อรับประทานจนครบควรหยุดรับประทาน 7 วันก่อนเริ่มแผงใหม่
- ยาคุมชนิดฮอร์โมนระดับเดียวแบบรับประทานทุกวัน (Every day pills) ใน 1 แผง จะมียาเม็ดทั้งหมด 28 เม็ด แบ่งเป็นยาที่มีฮอร์โมน 21 เม็ด และยาหลอก 7 เม็ด ควรรับประทานวันละ 1 เม็ด ติดต่อกันตามลำดับของลูกศรที่ระบุไว้บนแผงยาโดยไม่จำเป็นต้องหยุดพัก
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills)
เป็นยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) เพียงชนิดเดียว โดยใน 1 แผงจะมียา 28 เม็ด ควรรับประทานวันละ 1 เม็ด ในเวลาเดียวกันทุกวัน โดยเริ่มจากวันแรกที่ประจำเดือนมาหรือไม่เกิน 5 วันหลังจากนั้น ยาคุมกำเนิดประเภทนี้มีในรูปแบบการรับประทานภายใน 3 ชั่วโมง และ 12 ชั่วโมง ก่อนรับประทานจึงควรอ่านคำแนะนำบนฉลากข้างผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด
ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่ใช้สำหรับป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถุงยางอนามัยขาด โดยยาคุมฉุกเฉินที่นิยมใช้คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มโปรเจสติน ใน 1 แผง จะมี 2 เม็ด แต่ละเม็ดจะมีตัวยา 0.75 มิลลิกรัม โดยควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานอีกเม็ดใน 12 ชั่วโมงให้หลัง หรืออาจรับประทานยาทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันในคราวเดียวภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
บางประเทศอาจมียาคุมฉุกเฉินลีโวนอร์เจสเตรล 1 เม็ดที่มีตัวยาปริมาณ 1.5 มิลลิกรัม ซึ่งควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน แต่สำหรับประเทศไทยมักนิยมใช้ในปริมาณ 0.75 มิลลิกรัม 2 เม็ดมากกว่า เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาคุม เช่น อาเจียน ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม ปวดท้องช่วงล่าง
การทำงานของยาคุมกำเนิด
การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ผลิตออกมาจากรังไข่เกิดการปฏิสนธิกับตัวอสุจิ และฝังตัวในผนังมดลูก ก่อนจะพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน การรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องวิธีอาจช่วยอาจทำให้ร่างกายสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้มากทำให้อสุจิเดินทางเข้ามาปฏิสนธิกับไข่ได้ยากขึ้น ยับยั้งการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วไม่สามารถฝังตัวในผนังมดลูกได้
ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด
ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด อาจมีดังนี้
- ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- อาเจียน คลื่นไส้
- วิงเวียนศีรษะ
- เจ็บเต้านม
- อารมณ์แปรปรวน
- ลิ่มเลือด พบได้บ่อยในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 35 ปี โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่
- น้ำหนักเพิ่มหรือลดลง
- ความเสี่ยงการเกิดโรคเพิ่มขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม
ลืมกินยาคุมกำเนิดควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคุมแบบเม็ด 21 วัน และ 28 วัน ให้รับประทานในทันทีที่นึกขึ้นได้ภายในวันเดียวกัน และรับประทานยาคุมเม็ดอื่นตามปกติ หากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดนานกว่า 2 วัน ให้รับประทาน 2 เม็ดเวลาเช้าและเย็น เป็นเวลา 2 วันติดต่อกันแล้วจึงกลับมารับประทานวันละ 1 เม็ดตามปกติจนกว่าจะหมดแผง
หากลืมรับประทานยาคุมนานกว่า 3 วัน ควรหยุดรับประทานยาคุมแผงเดิม และเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันแรกที่มีประจำเดือนของรอบเดือนถัดไป ในระหว่างที่หยุดรับประทานยาคุม หากมีเพศสัมพันธ์ ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น สวมถุงยางอนามัย
สำหรับยาคุมฉุกเฉินลีโวนอร์เจสเตรลหากลืมรับประทานทั้ง 2 เม็ด หรือรับประทานเม็ดใดเม็ดหนึ่งช้ากว่า 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลงเหลือประมาณ 60-79% ซึ่งเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตสัญญาณของการตั้งครรภ์ เช่น ประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน อาเจียน และควรตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วยชุดตรวจครรภ์ หรือเข้ารับการตรวจจากคุณหมอ เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าตั้งครรภ์หรือไม่