backup og meta

ยาคุมแบบแปะ วิธีการใช้และผลข้างเคียง

ยาคุมแบบแปะ วิธีการใช้และผลข้างเคียง

การใช้ ยาคุมแบบแปะ หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ช่วยในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วไปคือ แปะแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้บนผิวหนังติดต่อกัน 3 สัปดาห์ใน 1 เดือน โดยเปลี่ยนแผ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และงดแปะ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ประจำเดือนมาในรอบเดือนนั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาคุมแบบเม็ดที่ต้องกินยาทุกวัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิธีใช้งานที่ถูกต้อง และพิจารณาผลข้างเคียงของยาคุมแบบแปะหรือแผ่นแปะคุมกำเนิด อาจช่วยให้วางแผนป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

[embed-health-tool-ovulation]

การทำงานของยาคุมแบบแปะ

ยาคุมแบบแปะ หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นแผ่นยาฮอร์โมนชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบไปด้วยยาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogens) ผสมกับยาฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสติน (Progestins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ แผ่นแปะคุมกำเนิดมีลักษณะเป็นแผ่นสีเนื้อบาง ยืดหยุ่นได้ดี สามารถแปะไว้ในขณะที่อาบน้ำ ว่ายน้ำ เล่นกีฬา และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ วิธีใช้คือ แปะแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้บนผิวหนังบริเวณต้นแขน หลังส่วนบน หน้าท้อง เป็นต้น แผ่นยาจะปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังและยาจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งไม่ให้เกิดการตกไข่ ทำให้มูกบริเวณมดลูกหนาขึ้น ป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิผ่านเข้าไปได้ และทำให้ผนังมดลูกบางจนตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวในมดลูกได้ อย่างไรก็ตาม ยาคุมแบบแปะสามารถช่วยคุมกำเนิดได้เท่านั้น ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections หรือ STI) เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม การติดเชื้อเอชไอวี ได้ เพื่อการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย จึงควรใช้วิธีป้องกันอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย

[embed-health-tool-ovulation]

ประโยชน์ของยาคุมแบบแปะ

ยาคุมแบบแปะอาจมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  • ใช้งานง่าย เพียงแปะบนผิวหนัง ไม่กระทบการมีเพศสัมพันธ์
  • มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงเทียบเท่าการกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
  • เมื่อต้องการเลิกใช้ยาคุมแบบแปะ สามารถกลับมาตั้งครรภ์และวางแผนมีลูกได้ทันที โดยภาวะเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติจะกลับมาภายใน 1-2 เดือน
  • มีประจำเดือนมาทุกเดือนเช่นเดิม ทำให้มั่นใจว่ายังไม่ตั้งครรภ์ ต่างจากการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดอื่น ๆ เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฝัง ยาคุมกำเนิดแบบฉีด การใช้ห่วงอนามัย ที่ประจำเดือนอาจไม่มาในช่วงที่ใช้
  • ไม่ต้องกินยาทุกวันแบบยาเม็ดคุมกำเนิด ลดปัญหาการลืมกินยา หรืออาเจียนหลังกินยา
  • ฮอร์โมนจากยาคุมแบบแปะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง ยาจึงสามารถออกฤทธิ์ได้ตามปกติ แม้ในวันที่อาเจียนหรือท้องเสีย
  • ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถแปะเองได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสถานพยาบาลเพื่อให้คุณหมอหรือบุคคลากรทางการแพทย์แปะแผ่นแปะคุมกำเนิดให้
  • อาจช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติขึ้น มีปริมาณเลือดน้อยและปวดท้องน้อยลง
  • อาจมีส่วนช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome หรือ PMS)

ยาคุมแบบแปะ ออกฤทธิ์เมื่อไหร่

  • เมื่อเริ่มใช้ยาคุมแบบแปะในวันแรกที่มีประจำเดือนไปจนถึงวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที ไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย
  • หากสะดวกเริ่มใช้ยาคุมแบบแปะในช่วงอื่น ๆ ควรใช้การคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ถุงยางอนามัย ร่วมด้วยประมาณ 7 วัน
  • สำหรับคนที่มีรอบเดือนสั้น เช่น ประจำเดือนมาทุก 23 วันหรือน้อยกว่านั้น การเริ่มใช้ยาคุมแบบแปะหลังวันที่ 5 ของการมีประจำเดือนจะยังไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ควรใช้การคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยประมาณ 7 วัน
  • เมื่อเลิกใช้ยาคุมแบบแปะ ภาวะตกไข่จะกลับมาตามปกติภายใน 1-2 เดือน

วิธีใช้ ยาคุมแบบแปะ

วิธีใช้ ยาคุมแบบแปะ หรือแผ่นแปะคุมกำเนิดที่ถูกต้องดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้ยาสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

  • แปะแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้บนผิวหนังเป็นเวลาติดต่อกัน 3 สัปดาห์ใน 1 เดือน โดยเปลี่ยนแผ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และงดใช้ในสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ
  • แปะแผ่นแปะคุมกำเนิดลงบนบริเวณผิวหนังส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าท้อง แผ่นหลัง ต้นขา ควรเป็นผิวหนังส่วนที่สะอาดและแห้ง ไม่ทาครีมหรือเปียกน้ำ เพราะอาจทำให้แผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดลอก หลีกเลี่ยงการติดยาคุมแบบแปะในบริเวณที่มีรอยแผล มีการอักเสบ บริเวณหน้าอก หรือบริเวณที่อาจโดนเสื้อผ้ารัดแน่นจนหลุดออกได้ง่าย
  • หากต้องการเปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิด ให้ดึงแผ่นเดิมออกก่อนแล้วแปะแผ่นใหม่ทันที อย่าทิ้งช่วงนาน และควรเลี่ยงการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดพร้อมกัน 2 แผ่น
  • เมื่อแกะแผ่นแปะคุมกำเนิดออกมาใช้งาน ให้ดึงแผ่นพลาสติกใสออกมาครึ่งเดียวแล้วแปะลงบนผิวหนังก่อน จากนั้นจึงดึงอีกซีกหนึ่งแปะบนผิวหนังให้แนบสนิททั้งแผ่น กดค้างไว้ 10 วินาทีให้ยาซึมเข้าผิวหนัง ระวังอย่าให้นิ้วมือสัมผัสแผ่นยาที่จะแปะกับผิวหนัง
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งที่แปะแผ่นแปะคุมกำเนิดทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณเดิมระคายเคืองมากเกินไป หรืออักเสบ และหากพบว่าผิวหนังบริเวณที่แผ่นแปะคุมกำเนิดระคายเคืองหรืออักเสบ ควรแกะแล้วแปะยาคุมแผ่นใหม่ที่ผิวหนังบริเวณอื่นแทน
  • นับวันที่แปะแผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นวันที่ 1 ของรอบนั้น ๆ ครั้งต่อไปที่เปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดจะเป็นวันเดียวกันของทุกสัปดาห์ เช่น แปะในวันจันทร์ของสัปดาห์นี้ รอบต่อไปก็จะเป็นวันจันทร์หน้า
  • ถ้าแผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดออก ให้แปะกลับไปใหม่ หากติดได้ไม่แนบสนิทเหมือนเดิมควรเปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยต้องดึงแผ่นเก่าออกก่อนแปะแผ่นใหม่ลงไป เพื่อหลีกเลี่ยงการแปะแผ่นยาบนผิวหนังพร้อมกัน 2 แผ่น
    • หากแผ่นหลุดออกมาเกิน 24 ชั่วโมง หรือเปลี่ยนช้ากว่าที่ควรอย่างน้อย 1 วัน อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ ให้แปะยาคุมแบบแปะใหม่ทันที และเปลี่ยนแผ่นยาตามรอบปกติ ควรใช้การคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
    • หากแผ่นหลุดออกมาเกิน 48 ชั่วโมง หรือไม่แน่ใจว่าหลุดออกตั้งแต่เมื่อไหร่ ให้แปะยาคุมแบบแปะแผ่นใหม่ทันทีแล้วนับเป็นรอบใหม่ พร้อมใช้การคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยจนกว่าจะติดยาคุมแบบแปะครบ 7 วัน
    • หากไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไรในกรณีที่ยาคุมแบบแปะหลุดออกเกิน 24 ชั่วโมง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อจะได้วางแผนป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงของยาคุมแบบแปะ

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดเมื่อใช้ ยาคุมแบบแปะ มีดังนี้

  • ระคายเคืองผิวหนัง
  • แน่นหรือเจ็บหน้าอก
  • มีสิวขึ้น
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เวียนศีรษะ
  • มีภาวะตัวบวม
  • ท้องเสีย
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวน
  • มีตกขาวหรือติดเชื้อบริเวณช่องคลอด
  • เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด หัวใจวาย มะเร็งตับ โรคหลอดเลือดสมอง

หากใช้ยาคุมแบบแปะแล้วมีอาการข้างเคียงรุนแรง เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกวิงเวียน สายตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ไอเป็นเลือด ควรพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth Control Patch (Transdermal Contraceptive). https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-transdermal-patches. Accessed February 28, 2023.

Contraceptive patch. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/contraceptive-patch/. Accessed February 28, 2023.

Birth control patch.

https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/birth-control-patch/about/pac-20384553. Accessed February 28, 2023.

Estrogen and Progestin (Transdermal Patch Contraceptives). https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a602006.html. Accessed February 28, 2023.

What Is the Birth Control Patch?. https://health.clevelandclinic.org/does-the-birth-control-patch-work/. Accessed February 28, 2023.

แผ่นแปะคุมกำเนิด … คุมกำเนิดได้จริงหรือไม่. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/584//ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง/#:~:text=ดังนั้นหากเริ่มแปะยา,ในการนับวันของ. Accessed February 28, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมกำเนิด กับ การตั้งครรภ์ และข้อควรรู้ก่อนใช้ยา

ยาคุมกำเนิดช่วยลดสิว ได้อย่างไร และข้อควรระวังที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา