backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ตกขาว อาการ สาเหตุ การรักษา และการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/04/2023

ตกขาว อาการ สาเหตุ การรักษา และการดูแลตัวเอง

ตกขาว เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน พบบ่อยในช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือในหญิงตั้งครรภ์ การตกขาวเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกายที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ โดยการจำกัดเซลล์ที่ตายแล้วและแบคทีเรียออกจากช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดสะอาดมากขึ้น แต่หากตกขาวมีสีและกลิ่นรุนแรง โดยเฉพาะหากมีอาการคันหรือแสบในช่องคลอดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอด อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การดูแลสุขภาพช่องคลอดอาจช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

คำจำกัดความ

ตกขาว คืออะไร

ตกขาว คือ ของเหลวที่ผลิตจากต่อมภายในช่องคลอดและปากมดลูก เพื่อจำกัดเซลล์ที่ตายแล้วและแบคทีเรียออกจากช่องคลอด ป้องกันการติดเชื้อ เพิ่มความชุ่มชื้นของช่องคลอด และช่วยให้ช่องคลอดสะอาด ในบางกรณีตกขาวอาจมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น สีและกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ช่วงมีประจำเดือน ช่วงไข่ตก ถูกกระตุ้นทางเพศ ตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก

ตกขาวเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากตกขาวมีสีหรือกลิ่นที่รุนแรง โดยเฉพาะหากมีอาการคันหรือแสบในช่องคลอดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งปากมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก

อาการ

อาการตกขาว

อาการของตกขาวที่อาจบอกถึงความผิดปกติของสุขภาพ มีดังนี้

  • ตกขาวมีกลิ่นเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • สีเปลี่ยน เช่น สีเขียวเข้ม สีเหลือง หรือดูเหมือนเป็นสีของหนอง
  • มีตกขาวร่วมกับอาการคัน แสบ บวม หรือแดงในบริเวณอวัยวะเพศ
  • เป็นผื่น หรือเป็นแผลที่อวัยวะเพศ
  • ตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนหรือเป็นฟอง
  • สาเหตุ

    สาเหตุตกขาว

    โดยปกติ ตกขาวจะมาในช่วงมีประจำเดือน หรือก่อนมีประจำเดือนไม่กี่วัน แต่อาการตกขาวมากกว่าปกติตลอดทั้งเดือน มีสีและกลิ่นที่รุนแรงหรืออาจมีอาการคันและแสบในช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณปัญหาสุขภาพ ดังนี้

    • การทำงานของระบบสืบพันธุ์ ตกขาวก่อนมีประจำเดือนอาจเกิดจากฮอร์โมนกระตุ้น โดยจะมีลักษณะเป็นสีขาว สีครีม หรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นจาง ๆ และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ถือเป็นตกขาวที่ปกติและสุขภาพดี
    • การคุมกำเนิด การคุมกำเนิดส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้มีตกขาวเพิ่ม โดยตกขาวมักจะเป็นผลข้างเคียงจากการกินยาคุมกำเนิด หรือยาคุมฉุกเฉิน
    • ตั้งครรภ์ ตกขาว อาจเป็นสัญญาณการตั้งครรภ์ ตกขาวที่มีสาเหตุจากการตั้งครรภ์จะคล้ายกับตกขาวปกติ จนแทบจะแยกไม่ออก แต่ถ้าตั้งครรภ์ตกขาวอาจจะหนาขึ้น หรือมีลักษณะเหมือนครีมมากกว่าตกขาวปกติ
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม และโรคพยาธิในช่องคลอด เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เป็นสาเหตุให้ตกขาวผิดปกติ โดยตกขาวอาจเป็นสีเหลือง นอกจากนี้ โรคพยาธิในช่องคลอด อาจทำให้ตกขาวเป็นสีเขียว สีเหลืองเข้ม มีกลิ่นเหม็นเค็ม และมีอาการคันร่วมด้วย
    • ติดเชื้อรา (Candidiasis) เชื้อราในช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ตกขาวที่เกิดจากการติดเชื้อราในช่องคลอดจะมีลักษณะ หนา และขาว เป็นก้อน ซึ่งอาจมีอาการคันและแสบบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย
    • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) เป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้น เมื่อสมดุลแบคทีเรียในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงไป อาจมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ การสวนล้างช่องคลอด และการมีคู่นอนหลายคน ลักษณะของตกขาวคือ จะมีอาการคันมาก และมีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา
    • มะเร็งปากมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก ตกขาวอาจมีสีแดงหรือสีน้ำตาล อาการปวดอุ้งเชิงกรานและมีเลือดออกทางช่องคลอด

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงตกขาว

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อความสมดุลของแบคทีเรีย ทำให้กลิ่น สีและเนื้อสัมผัสของตกขาวเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

    • การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อปรสิต พบบ่อยในผู้หญิงเปลี่ยนคู่นอนบ่อยและไม่ป้องกัน
    • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหลังการผ่าตัด
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม หนองใน
    • ช่องคลอดอักเสบ
    • โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็งปากมดลูก โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ
    • การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่รุนแรงสวนล้างช่องคลอด
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ปฏิชีวนะ สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด
    • วัยหมดประจำเดือนที่ผนังช่องคลอดบางและแห้ง

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ได้โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยตกขาว

    หากตกขาวมีสี มีกลิ่น และมีอาการที่บอกถึงความผิดปกติ คุณหมออาจวินิจฉัยอาการเบื้องต้นด้วยการซักประวัติสุขภาพและสอบถามอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับตกขาว หรืออาจเก็บตัวอย่างตกขาวเพื่อทดสอบหาเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือเชื้อปรสิต เพื่อหาสาเหตุของอาการ

    การรักษาตกขาว

    วิธีรักษาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักของอาการตกขาวผิดปกติ ดังนี้

    • การติดเชื้อรา มักรักษาด้วยยาเหน็บหรือครีมต้านเชื้อราในช่องคลอด เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) บูโตโคนาโซล (Butoconazole)ไทโอโคนาโซล (Tioconazole) และยารับประทานฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
    • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย อาจรักษาด้วยยาเมโทรนิดา (Metronidazole) แบบเม็ดรับประทานหรือสอดช่องคลอดหรือเจล หรือครีมคลินดามัยซิน (Clindamycin) ใช้ทาช่องคลอดเพื่อลดอาการอักเสบ
    • ช่องคลอดอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ อาจต้องระบุสาเหตุของการอักเสบ เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดที่รุนแรง ผ้าอนามัยแบบสอด หรือน้ำยาซักผ้า และหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เกิดความระคายเคืองและอักเสบในช่องคลอด และหลีกเลี่ยงการใช้สารดังกล่าว
    • โรคพยาธิในช่องคลอด เชื้อไตรโคโมแนส (Trichomoniasis) อาจรักษาด้วยยา เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือยาทินิดาโซล (Tinidazole)
    • กลุ่มอาการทางเดินปัสสาวะของวัยหมดประจำเดือน หรือช่องคลอดฝ่อ อาจรักษาด้วยเอสโตรเจนรูปแบบของครีม หรือยาเม็ด

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับตกขาว

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันปัญหาตกขาวที่ผิดปกติ อาจทำได้ดังนี้

    • รักษาช่องคลอดให้สะอาด โดยล้างด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำอุ่นบริเวณภายนอก หลีกเลี่ยงการสวนล้างหรือใช้สบู่ล้างด้านในช่องคลอดเพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือแบคเรียในช่องคลอดเสียสมดุลได้
    • หลังจากเข้าห้องน้ำ ควรเช็ดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันแบคทีเรียเข้าสู่ช่องคลอดและทำให้เกิดการติดเชื้อ
    • ควรสวมกางเกงในผ้าฝ้ายที่ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคือง และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่คับจนเกินไป
    • และทำความสะอาดช่องคลอดด้วยน้ำทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเพราะอาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้
    • หากตกขาวเปลี่ยนสี มีกลิ่นรุนแรง หรือมีอาการคันและแสบช่องคลอดร่วมด้วย ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา