backup og meta

ยาคุม มีกี่ประเภท และแตกต่างกันอย่างไร

ยาคุม มีกี่ประเภท และแตกต่างกันอย่างไร

ยาคุม เป็นยาเม็ดรับประทานช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว และยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน หากรับประทานยาอย่างถูกต้องอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ยังไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ 100% และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้นการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับถุงยางอนามัยจะเพิ่มประสิทธิภาพและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีขึ้น ยาเม็ดคุมกำเนิดแต่ละชนิดอาจมีปริมาณฮอร์โมนไม่เท่ากันและอาจไม่เหมาะกับทุกคน ดังนั้นก่อนการเลือกใช้แต่ละชนิดจำเป็นต้องพิจารณาถึงสุขภาพ โรคประจำตัว ข้อจำกัดในการใช้ฮอร์โมน และระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิดด้วย

[embed-health-tool-ovulation]

ประเภทของยาคุม

ยาคุมมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว และยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน ดังนี้

1. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive – COC)

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เป็นยาคุมชนิดเม็ดแบบรับประทาน ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ หากรับประทานยาคุมอย่างถูกต้องจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ โดยฮอร์โมนจะทำให้มูกบริเวณปากมดลูกหนาขึ้น สเปิร์มจึงเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น อีกทั้งยังป้องกันการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง เป็นภาวะที่ไม่เหมาะสมในการฝังตัวของตัวอ่อน เนื่องจากเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์จึงอาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น

  • อารมณ์แปรปรวน
  • คลื่นไส้
  • เจ็บเต้านม ปวดศีรษะ
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

อาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่เดือนเมื่อรับประทานยาคุมอย่างต่อเนื่อง และรับประทานยาคุมตรงเวลา นอกจากนี้ อาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน และเพิ่มความเสี่ยงของ การเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เล็กน้อย

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมประกอบด้วย 3 ประเภทหลัก ดังนี้

  • ชนิดฮอร์โมนระดับเดียว (Monophasic pills) เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด จะมีทั้งหมด 21 เม็ด และแต่ละเม็ดจะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เท่ากัน ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 21 วัน และไม่รับประทานยาอีก 7 วัน
  • ชนิดฮอร์โมนระดับเดียวแบบรับประทานทุกวัน (Every day (ED) pills) จะมียาทั้งหมด 28 เม็ด เป็นฮอร์โมน 21 เม็ด และเป็นสารที่ไม่ใช่ฮอร์โมน เช่น ธาตุเหล็ก หรือแป้ง อีก 7 เม็ด รับประทานวันละ 1 เม็ดทุกวันไม่ต้องหยุดพัก
  • ชนิดฮอร์โมนสองระดับ (Phasic pills) เป็นยาคุมที่มีฮอร์โมนแตกต่างกัน 2 ระดับในหนึ่งแผง รับประทานวันละ 1 เม็ดเป็นเวลา 21 วัน และไม่รับประทานอีก 7 วัน ต้องรับประทานตามลำดับอย่างถูกต้องเพราะฮอร์โมนในแต่ละเม็ดไม่เท่ากัน

วิธีรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

  • การรับประทานยาคุมกำเนิด 21 หรือ 28 เม็ด ชนิดฮอร์โมนรวมเป็นครั้งแรก ให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันที่ประจำเดือนมาวันแรกหรือไม่เกิน 5 วัน นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนรอบนั้น
  • เริ่มรับประทานยาจากเม็ดที่ 1 ตามที่ในแผงยาระบุไว้ และให้รับประทานยาคุมตรงเวลาทุกวัน ตามลำดับอย่างต่อเนื่อง
  • สำหรับยาคุมกำเนิด 21 เม็ด เมื่อรับประทานครบแล้วให้หยุดรับประทานยาไป 7 วัน และเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 8 เมื่อนับครบ 7 วันแล้ว
  • สำหรับยาคุม 28 เม็ด สามารถรับประทานยาคุมต่อเนื่องและเริ่มแผงใหม่ได้เลย ไม่ต้องเว้น 7 วัน

หากผ่านการคลอดบุตร แท้งบุตร หรือมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเหมาะกับใคร

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ผู้หญิงสามารถรับประทานได้ทุกคน แต่เป็นไปได้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยาเสมอ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเเละโปรเจสเตอโรนที่บรรจุในยาเม็ดคุมกำเนิด มีหลายชนิดและมีปริมาณที่ไม่เท่ากันในแต่ละยี่ห้อ เพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือภาวะสุขภาพบางอย่างดังต่อไปนี้ อาจไม่เหมาะกับการรับประทานยาคุม

  • กำลังตั้งครรภ์
  • น้ำหนักเกินมาตรฐานมาก
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ไรฟาบูติน (Rifabutin) ยารักษาโรคลมชัก ยาต้านไวรัสรักษาเอชไอวี
  • สูบบุหรี่ หรือหยุดสูบบุหรี่น้อยกว่า 1 ปี และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ปวดไมเกรนรุนแรง
  • มีลิ่มเลือดในเส้นเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน
  • ทุกคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดของคุณมีลิ่มเลือดขณะที่อายุต่ำกว่า 45 ปี
  • ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ
  • โรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน
  • โรคถุงน้ำดีหรือตับ
  • โรคมะเร็งเต้านม

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills – POP)

เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีเพียงฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) เท่านั้น มีทั้งหมด 28 เม็ด ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์โดยเพิ่มมูกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้น ทำให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น หากรับประทานยาคุมอย่างถูกต้องจะสามารถคุมกำเนิดได้ แต่ประสิทธิภาพอาจด้อยกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เนื่องจากอาจยับยั้งการตกไข่ได้น้อยกว่า อีกทั้งยังอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีเลือดออกกระปริบกระปรอย หรือประจำเดือนขาด และอาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้ผิวหนังมีจุดด่าง เจ็บปวดเต้านม อาการเหล่านี้สามารถหายไปเองได้ในไม่กี่เดือนเมื่อรับประทานยาคุมอย่างต่อเนื่อง

วิธีกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

  • การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวสำหรับผู้ที่เริ่มรับประทานครั้งแรก ควรเริ่มรับประทานในวันแรกของประจำเดือน หรือไม่เกิน 5 วัน หากเกิน 5 วันควรใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรับประทานยาเป็นเวลา 2 วัน
  • รับประทานยาคุมกำเนิดตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน หรือไม่เกิน 3 ชั่วโมง ของเวลาเดิมในแต่ละวัน
  • เมื่อเริ่มยาแผงใหม่สามารถรับประทานยาอย่างต่อเนื่องได้เลยไม่ต้องหยุดยา

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวเหมาะกับใคร

  • สตรีให้นมบุตร เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจากฮอร์โมนแบบผสมจะส่งผลต่อปริมานน้ำนมได้
  • สตรีที่มีโรคหลอดเลือดอุดตัน

3. ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน (Emergency contraception pill)

ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน ประกอบด้วย ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เป็นยาในกลุ่มโพรเจสติน ช่วยชะลอหรือหยุดการตกไข่ เพิ่มความเหนียวของมูกปากมดลูก ทำให้ผนังมดลูกบางตัวลง และทำให้ท่อนำไข่เคลื่อนไหวผิดปกติ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางอนามัยแตก หรือลืมกินยาคุมกำเนิด ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง หลังจากมีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ รอบประจำเดือนเปลี่ยนแปลง อาจมาเร็วขึ้นหรือคลาดเคลื่อนไป และอาจทำให้ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น ดังนั้นจึงควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ควรรับประทานเป็นประจำ

วิธีกินยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน

การรับประทานยาคุมฉุกเฉินควรรีบรับประทานให้เร็วที่สุด และไม่ควรเกิน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรรับประทานมากกกว่า 2 แผง ภายในรอบเดือนเดียว เพราะยาจะส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุ ทำให้สร้างฮอร์โมนที่ผิดปกติ สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินได้ 2 วิธี คือ

  • รับประทาน 2 เม็ด หลังมีเพศสัมพันธ์ทันที ไม่เกิน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง
  • รับประทานเม็ดแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ทันที ไม่เกิน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง และรับประทานเม็ดที่ 2 ห่างไปอีก 12 ชั่วโมง

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจมีเพียง 75% ซึ่งจะด้อยกว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบต่อเนื่อง

หากรับประทานยาช้ากว่าเวลาที่กำหนดหรือการลืมรับประทานยาคุม

ยาคุมกำเนิดกลุ่มฮอร์โมนรวม

ยาเม็ดที่มีฮอร์โมน

  • หากรับประทานช้ากว่าเวลาปกติ ให้รับประทานยาทันที 1 เม็ด เมื่อนึกขึ้นได้ และรับประทานอย่างต่อเนื่อง
  • หากลืมรับประทาน 1 วัน ให้รับประทานยา 1 เม็ดทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ และอีก 1 เม็ดในเวลาปกติ
  • หากลืมรับประทาน 2 วัน ถ้าเป็นช่วงวันที่ 1-14 ของแผงยาคุม ให้ทานยาวันละ 2 เม็ด ใน 2 วันถัดมา
  • หากลืมรับประทาน 2 วัน ถ้าเป็นช่วงหลังจากวันที่ 14 ของแผงยาคุม ให้เริ่มแผงใหม่ทันทีร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย 7 วัน
  • หากลืมรับประทาน 3 วัน ถ้าเป็นช่วงหลังจากวันที่ 14 ของแผงยาคุม ให้เริ่มแผงใหม่ทันทีร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย 7 วัน

ยาคุมกำเนิดกลุ่มฮอร์โมนเดี่ยว

ยาเม็ดที่มีฮอร์โมน

  • หากลืมรับประทานช้ากว่าเวลาปกติน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยาทันที 1 เม็ด เมื่อนึกขึ้นได้ ร่วมกับ การใช้ถุงยางอนามัย
  • หากลืมรับประทานช้ากว่าเวลาปกติมากกว่า 12 ชั่วโมง ให้รับประทานยาทันที 1 เม็ด เมื่อนึกขึ้นได้ ร่วมกับ การใช้ถุงยางอนามัย

ทั้งนี้การลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ตรงเวลา จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงควรสังเกตรอบเดือนถัดไป ถ้าหมดแผงยาคุมแล้วยังไม่มีเลือดออกมา หรือห่างจากรอบเดือนก่อน 4-6 สัปดาห์ ควรตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ร่วมด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth Control Pills. https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-pills. Accessed October 5, 2021

Emergency contraception (morning after pill, IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/emergency-contraception/. Accessed October 5, 2021

Minipill (progestin-only birth control pill). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/minipill/about/pac-20388306. Accessed October 5, 2021

The progestogen-only pill. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/the-pill-progestogen-only/#:~:text=The%20traditional%20progestogen-only%20pill,taken%20every%20day%20to%20work.. Accessed October 5, 2021

Combined pill. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/combined-contraceptive-pill/. Accessed October 5, 2021

Original Content By SiPH. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/130-birth-control-pill. Accessed October 5, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมกำเนิดช่วยลดสิว ได้อย่างไร และข้อควรระวังที่ควรรู้

ผลข้างเคียงของยาคุม มีอะไรบ้าง ยาคุมไม่เหมาะกับใคร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา